xs
xsm
sm
md
lg

ใครว่าปลาหมอคางดำชอบคลื่นทะเล?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - พบปลาหมอคางดำตายบริเวณชายหาดชะอำ ผู้เชี่ยวชาญชี้ ปลาชนิดนี้ไม่สามารถอยู่รอดในน้ำทะเลที่มีคลื่นแรงและความเค็มสูง เป็นสัญญาณบวกที่ลดความกังวลเรื่องการแพร่กระจายไปยังทะเลภาคใต้หรือประเทศเพื่อนบ้าน

สัปดาห์ก่อนมีข่าวพบปลาหมอคางดำตายอยู่บริเวณชายหาดชะอำ สะท้อนว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในแหล่งน้ำที่มีคลื่นและมีความเค็มมากในระดับน้ำทะเล ช่วยให้สบายใจไปเปลาะหนึ่งเพราะไม่มีทางที่ปลาหมอคางดำจะว่ายน้ำข้ามทะเลไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน...หรือแม้แต่ทะเลในภาคใต้  ยกเว้นจะมีคนใจร้ายกับบ้านเมือง แอบขนปลาไปปล่อยแล้วสร้างภาพว่ามันระบาดไปถึง สร้างความวุ่นวายให้ประเทศเพื่อผลประโยชน์ตน ถ้ามีคนแบบนี้จริงๆ ก็นับว่าเป็น Invasive Person ที่อันตรายสุดๆ แต่ถ้าจะให้แน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ศึกษาดีเอ็นเอสิ่งแวดล้อม (environmental DNA, eDNA) ของน้ำทะเลที่คาดว่ามีปลาหมอคางดำอาศัยอยู่ และตรวจสอบดีเอ็นเอของปลาที่พบว่าสอดคล้องกันหรือไม่ ข้อสงสัยจะได้กระจ่างโดยพลัน
 

ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มปลาหมอสี Cichlidae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น ไนจีเรียและคาเมรูน จริงอยู่ที่ว่าปลาชนิดนี้ปรับตัวเก่งสามารถอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำที่มีความเค็ม เช่น น้ำกร่อย แต่มันไม่สามารถอยู่ในน้ำทะเลได้ เนื่องจากปลาหมอคางดำมีความชอบต่อสภาพแวดล้อมที่สงบ เช่น ลำคลอง และบึง ที่เป็นน้ำนิ่ง หรือมีน้ำกระแสอ่อน รวมถึงบริเวณที่มีพืชน้ำหนาแน่น ซึ่งเอื้อต่อการวางไข่และการหาอาหารมากกว่าพื้นที่เค็มจัดและมีคลื่นแรงอย่างทะเล  

ถ้าว่ากันด้วยข้อเท็จจริง ปลาหมอคางดำไม่ใช่สัตว์ดุร้าย ดูจากสภาพฟันก็ไม่ใช่ ยิ่งถ้าดูจากลำไส้ ซึ่งมีการผ่าพิสูจน์พบว่า มีความยาวมากกว่า 4 เท่าของความยาวลำตัวปลา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปลากินพืช ลำไส้เล็กนี้เป็นส่วนที่ต่อออกมาจากส่วนปลายกระเพาะอาหาร เป็นส่วนที่ยาวที่สุดในระบบย่อยอาหาร ในปลากินเนื้อลำไส้เล็กจะสั้นกว่าปลากินพืช เนื่องจากเนื้อย่อยได้เร็วและย่อยในกระเพาะอาหารได้ดีกว่าในลำไส้
 
ปลาหมอคางดำกินแพลงตอนพืชเป็นหลัก รวมถึงกินแพลงตอนสัตว์ และสัตว์น้ำวัยอ่อนหากแพลงตอนพืชไม่เพียงพอ ส่งผลให้สัตว์น้ำชนิดอื่นถูกแย่งแหล่งอาหาร แต่อย่าไปรุกล้ำถิ่นที่มีนักล่าประจำพื้นที่เชียว คางดำก็พ่ายให้ชะโด กะพง และสารพัดนักล่าได้ง่ายๆ เหมือนกัน ดังเช่นพื้นที่บางปะกง ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยพบการระบาดของปลาหมอคางดำเลย
 
ขณะที่ความเสียหายของการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบดั้งเดิมในหลายพื้นที่นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลถึงอุณหภูมิน้ำ คุณภาพแหล่งน้ำ โรคระบาด และอีกหลากหลายปัจจัย หากมัวแต่ชี้เป้าไปว่าเป็นเพราะปลาหมอคางดำเพียงอย่างเดียว และละเลยการปรับปรุงแนวทางรับมือในด้านอื่นๆ ก็อาจทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้
 
อย่างไรก็ตาม  ปลาหมอคางดำยังเป็นปลาที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ในชุมชนหลายแห่งของแอฟริกาตะวันตก ก็ใช้ปลาชนิดนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญ หรือปลาที่พบ ณ ริมชายหาดชะอำ ก็สามารถเก็บมาทำน้ำหมักชีวภาพได้ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ต่างจากปลาน้ำจืดทั่วไป ทั้งปลาร้า น้ำปลา น้ำพริก หรือเมนูจานปลาที่เชฟระดับมิชลินก็เคยนำมาปรุงแล้ว
 
หากทุกคนร่วมมือที่จะนำปลาหมอคางดำมาทำประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็แจ้งภาครัฐทุกครั้งที่พบ เพื่อช่วยกันจับ ช่วยกันจบ พุ่งเป้าไปที่เป้าหมายเดียวกัน การแก้ปัญหานี้ก็น่าจะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกคน./ โดย ปิยะ นทีสุดา


กำลังโหลดความคิดเห็น