มุกดาหาร-ชาวบ้านต.มุก และต.บางทรายใหญ่ อ.เมืองมุกดาหาร กว่า 50 คน ร้องศูนย์ดำรงธรรมมุกดาหาร ค้านทำเหมืองแร่หินทราย ยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ทบทวนใบอนุญาตประทานบัตร ชาวบ้านหวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม มลพิษปนเปื้อนน้ำและอากาศ ทั้งเกรงอันตรายจากระเบิดกับชุมชน ล่าสุดผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รับหนังสือแล้ว
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมุกดาหาร ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเหมืองแร่หินทราย ในพื้นที่ตำบลบางทรายใหญ่ และตำบลมุก อำเภอเมืองมุกดาหาร กว่า 50 คน นำโดยนายฉันทะ ทวีโคตร ได้นำหนังสือร้องเรียนถึงความเดือดร้อนและผลกระทบจากโครงเหารเหมืองแร่หินทราย ขอให้ทบทวนการอนุญาตระเบิดหินของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง โดยมีนางรณิดา เหลืองฐิติสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ลงมารับหนังสือจากชาวบ้าน
ข้อกังวลและความเดือดร้อนของชาวบ้าน คือ บ่อระเบิดหินห่างจากถนนเศรษฐกิจพิเศษสี่เลน มห. 3019 มุกดาหาร ประมาณ 230 เมตร ซึ่งอยู่ในรัศมีระเบิดหิน และมีการสัญจรไปมาของรถบรรทุกสินค้าไปต่างประเทศ เกรงว่าจังหวัดมุกดาหารและผู้ที่สัญจรจะได้รับผลกระทบ ทั้งจุดระเบิดหินห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ไม่ถึง 10 กิโลเมตร บริเวณหน้าด่านพรมแดนสะพาน จะมีการสร้างสถานีเรือบก และสถานีรถไฟ ประการต่อมาจุดเก็บคลังระเบิดหิน ห่างจากบ้านและที่ทำกินของชาวบ้านประมาณ 100 เมตร
ขณะเดียวกันในระแวกดังกล่าวมีวัดถ้ำตาดา โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ และมีโบราณสถานวัดศรีมณฑา ตำบลโพนทราย อำเมืองมุกดาหาร ทั้งมีลำห้วยอยู่ในพื้นที่บ่อระเบิดหิน และน้ำในลำห้วยไหลลงสู่ลำห้วยมุก และลงสู่แม่น้ำโขง เกรงว่าจะเกิดมลพิษทางน้ำ ทางบก และมลพิษอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ฟุ้งกระจาย แม้การระเบิดหินจะอยู่ในที่ดินของตนเอง แต่มีผลกระทบในวงกว้าง ชาวบ้านที่อยู่ข้างเคียงทั้งผู้สัญจรไป-มา มีผลกระทบทางตรงและทางอ้อม
นายฉันทะ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วง คือคลังเก็บวัตถุระเบิดอยู่ใกล้พื้นที่ของชาวบ้าน และอยู่ใกล้กับถนนสี่เลน ห่างแค่ 230 เมตรเท่านั้น ประการสุดท้ายพื้นที่ที่ได้ใบอนุญาตประทานบัตร ส่วนใหญ่ระวางอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลมุก ยังไม่เคยเอาเข้าสภาท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ระวางตำบลบางทรายใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเคยไปยื่นหนังสือคัดค้านมาแล้ว แต่เทศบาลตำบลบางทรายใหญ่ ไม่สนใจความเดือดร้อนชาวบ้าน
ทั้งนี้ภายหลังจากรับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านแล้ว นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าได้รับหนังสือจากชาวบ้านถึงปัญหาความเดือดร้อนแล้ว และจะนำปัญหาข้อร้องเรียนนำเข้าที่ประชุมใหญ่อีกครั้ง เพื่อพิจารณาในการอนุญาตต่อไป
สำหรับโครงการเหมืองแร่หินทราย ทางบริษัทเอกชน ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่หินทรายพื้นที่ 58 ไร่ 8 ตารางวา อายุสัมปทาน 19 ปี ทำเหมืองแบบขั้นบันได โดยใช้วัตถุระเบิดในการทำเหมือง จะระเบิดหินวันละ 1 ครั้ง กำลังการผลิตปีละ 400,000 ตัน โดยปริมาณแร่หินทรายที่สามารถระเบิดออกมาได้ประมาณ 6 ล้านตัน เป็นการทำเหมืองแร่ประเภทที่ 2