อุดรธานี - ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีแจงประเด็นร้อน เครื่องออกกำลังกายสเตนเลส 32 ล้านบาทแพงไปมั้ย เผยจัดซื้อด้วยความถูกต้อง ทั้งมีการทำประชาพิจารณ์กับชุมชนแล้ว ขณะที่วัสดุสเตนเลสมีความคงทนใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี
จากกระแสสื่อโซเชียล “เพจออนซอนอุดร” และ “เพจ CSI LA” โพสต์ข้อความและรูปภาพระบุว่า #เคยเห็นแต่แบบนี้ในทีวี #เทศบาลนครอุดรก็มีชุดละ 2 ล้านบาท งบจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสเตนเลสทั้งหมด “สามสิบสองล้าน” ไปดูของจริงที่ ชุมชนพิชัยรักษ์, ฟิตเนสกลางแจ้งทองคำกลางสวน? เทศบาลนครอุดรธานีจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งสเตนเลส จำนวน 33 ชุด ด้วยงบรวมกว่า 32 ล้านบาท เฉลี่ย “ชุดเดียว” ราคาประมาณ 1 ล้านบาท!!! นี่คือภาษีประชาชน และมีสื่อกระแสหลักหยิบไปนำเสนอข่าวจนทำให้ทัวร์ลงเทศบาลนครอุดรธานี ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าใช้เงินงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งมีราคาแพงเกินความจำเป็น
ความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ (6 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชุมชนที่เป็นข่าวเพื่อตรวจสอบเครื่องออกกำลังกายสเตนเลส โดยพบว่าเครื่องออกกำลังกายถูกติดตั้งไว้จริงและมีการเอาเชือกฟางมาพันไว้ พร้อมพิมพ์ข้อความว่า “ขอความกรุณางดใช้งาน อยู่ในขั้นตอนการตรวจรับและส่งมอบสินค้า” ขณะเดียวกันได้สอบถามไปยังปลัดเทศบาลนครอุดรธานี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ถึงประเด็นการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายดังกล่าว
นายไพทูรย์ เหลืองอิงคะสุต ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า ข้อมูลที่เผยแพร่อาจจะยังไม่ถูกต้องชัดเจน ข้อมูลที่เอาไปลงอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเทศบาลฯ กรณีนี้ขอชี้แจงกระบวนการได้มาของเครื่องออกกำลังกายสเตนเลส กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2567 เทศบาลนครอุดรธานีสำรวจความต้องการของชุมชนว่าต้องการเครื่องออกกำลังกายหรือไม่ โดยสำรวจทั้งหมด 105 ชุมชน การที่จะเอาเครื่องออกกำลังกายไปตั้งไว้ก็ต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสม
เทศบาลจึงสำรวจความต้องการ เมื่อสำรวจแล้วเสร็จ เทศบาลฯ เอาเรื่องนี้มาเข้าแผนประจำปี และนำเสนอในสภาเพื่อเป็นเทศบัญญัติงบประมาณในปี พ.ศ. 2568 ในการประชุมสภา สมาชิกสภาได้ยกมือเห็นชอบและผ่านการพิจารณาของสภา จากนั้นเทศบาลมีการลงสำรวจพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยออกไปสำรวจตามชุมชนทั้ง 105 ชุมชน ว่ามีความเหมาะสมและถูกต้อง
จากนั้นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้กําหนดขอบเขตของงาน TOR เพื่อกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของอุปกรณ์และราคา โดยทำหนังสือสอบถามไปยังห้างร้านที่ประกอบอาชีพขายอุปกรณ์เหล่านี้ จำนวน 7 ราย ก่อนจะกำหนดรายละเอียด และมีการประกาศ และมีผู้เข้ามายื่นเสนอราคาจำนวน 3 ราย และมีผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ได้แก่ บริษัท ส.สิงห์อยู่สปอร์ต จำกัด มีการลงนามทำสัญญาและดำเนินการติดตั้ง โดยขณะนี้เครื่องออกกำลังกายทั้งหมด 30 ชุมชนอยู่ระหว่างติดตั้ง และคณะกรรมการยังไม่มีการตรวจรับหรือรับมอบงานเครื่องออกกำลังกายสเตนเลสแต่อย่างใด
นายไพทูรย์กล่าวอีกว่า เครื่องออกกำลังกายสเตนเลสนี้ อปท.หลายแห่งก็มีการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนตัวคิดว่าเครื่องออกกำลังกายสเตนเลสก็เป็นเครื่องออกกำลังกายที่น่าจะทนทาน มีความคงทนอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี และมองว่าการจัดซื้อจัดจ้างน่าจะมีความคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ
สำหรับเครื่องออกกำลังกายสเตนเลสนั้น แยกเป็นชุดเล็กจะมี 8 ตัว ราคาชุดละ 673,500 บาท มีจำนวน 26 ชุด รวมเป็นเงิน 17,511,000 บาท ชุดคู่ (ใหญ่) มี 8 คู่ 16 ตัว ราคาชุดละ 2,079,000 บาท มีจำนวน 7 ชุด รวมเป็นเงิน 14,553,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 32,064,000 บาท
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีเครื่องออกกำลังกายก็เป็นเครื่องเล่นธรรมดาๆ ไม่มีเทคโนโลยีกลไกซับซ้อนอะไรทำไมถึงแพง นายไพทูรย์ตอบว่า เรื่องนี้ได้ผ่านกระบวนการ ทั้งการสืบราคาและมีคณะกรรมการตรวจสอบ และก่อนที่เราจะมีการลงประกาศ เรามีการทำประชาพิจารณ์กับประชาชน โดยประชาชนในเขตเทศบาลนครอุดรธานีก็รับรู้รับทราบ
ขณะที่ประชาชนรายหนึ่งในชุมชนพิชัยรักษ์บอกว่า ส่วนตัวมองว่าอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เป็นสเตนเลสนั้นก็ดี การบำรุงรักษาง่าย ดูแล้วแข็งแรงทนทานกว่าแบบเดิม แต่ตนคิดว่าจุดที่ตั้งเครื่องออกกำลังกายควรจะมีหลังคาและมีระบบไฟฟ้าส่องสว่าง เผื่อชาวบ้านออกมาเล่นตอนค่ำมืด
อย่างไรตาม เรื่องนี้น่าจะมีการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งผู้บริหารชุดเดิมก็อยากจะกลับเข้ามาบริหาร ส่วนผู้บริหารหน้าเก่าชุดใหม่ก็อยากจะเป็นผู้บริหาร โดยศึกเลือกตั้งครั้งนี้กลุ่มต่างๆ ก็ทุ่มสุดตัวเพื่อที่จะได้มาบริหารเทศบาล เพราะงบประมาณของเทศบาลนครอุดรธานีแต่ละปีมีมากกว่า 1,500 ล้านบาท