xs
xsm
sm
md
lg

มุกดาหารยังเฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1 ราย รวมป่วยสะสม 4 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มุกดาหาร - สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์จังหวัดมุกดาหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด เผยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 1 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 4 ราย คงเหลือผู้ที่ต้องเฝ้าระวังโรคทางผิวหนังและทางเดินอาหารต่อจำนวน 98 คน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 พ.ค.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารรายงานความคืบหน้าสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ โดยมีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันรวมทั้งหมด 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย และยังรักษาอยู่ 3 ราย (ทั้งสามรายมีประวัติเป็นผู้ชำแหละเนื้อโค) มีกลุ่มผู้สัมผัสที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรค 536 คน คงเหลือผู้ที่ต้องเฝ้าระวังต่อจำนวน 98 คน ส่วนที่เหลือสิ้นสุดระยะในวันที่ 10 พฤษภาคม 2568 ซึ่งการเฝ้าระวังโรคจะเฝ้าระวังในระบบทางเดินอาหาร และการติดต่อจากการสัมผัส

นพ.ณรงค์ จันทร์แก้ว นายแพทย์ สสจ.มุกดาหาร เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหารได้มีการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค ดังนี้ 1. ด้านคน ได้มีการค้นหาผู้สัมผัสในชุมชน พบผู้สัมผัส 638 คน และมีการจ่ายยาเพื่อป้องกันโรคครบทุกราย 2. ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการลงพื้นที่ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในบ้านกลุ่มเสี่ยงที่นำเนื้อกลับไปรับประทานที่บ้านจำนวน 23 ครัวเรือน โดยได้ดำเนินการทำความสะอาดตู้เย็นและพื้นครัว ด้วยน้ำยา 0.5% โซเดียมไฮโปรคลอไรด์ ส่วนมีดและเขียงได้นำไปฝังกลบโดยทีมเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา นางพันธ์ฉวี สุขบัติ รอง นพ.สสจ.มุกดาหาร นำทีมควบคุมสอบสวนโรคลงพื้นที่ ร่วมกับทีมปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ ทีมสาธารณสุขอำเภอดอนตาล, รพ.สต.เหล่าหมี ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ฆ่าเชื้อแอนแทรกซ์ในเขียง มีด ตู้เย็น ในครัวเรือน และนำเขียง มีดที่สงสัยปนเปื้อนไปฝัง, มีการเอาดินไปฝังกลบบริเวณที่ตรวจพบเชื้อแอนแทรกซ์ 2 คันรถ หลังจากฉีดด้วยโซดาไฟ, มีการตามรอยซากเนื้อจากที่ชำแหละไปถึงแหล่งทิ้ง


ด้านนายสัตวแพทย์ ต่อพงศ์ ประเสริฐสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคสัตว์สู่คน โรคจากสิ่งแวดล้อมสู่คน หากเกิดจากสัตว์เองต้องควบคุมโรคให้อยู่ในวงที่จำกัด โดยได้ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้ 1.) กักฝูงโคที่เสี่ยง 123 ตัว ในเกษตรกร 21 คน ที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุการติดเชื้อในคน ฉีดยาปฏิชีวนะ penicilin 7 วัน และกักสังเกตอาการอย่างน้อย 20 วัน 2.) ไม่ให้มีการนำวัวไปเลี้ยงในพื้นที่แปลงหญ้า หรือแหล่งน้ำในบริเวณที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อ 3.) ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ในโค กระบือ ที่เลี้ยงในพื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กม. จำนวน 1,222 ตัว 

4.) ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงด้วยโซดาไฟ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ที่เชือด สิ่งแวดล้อม 5.) ประชาส้มพันธ์แจ้งเกษตรกร หากพบสัตว์ป่วย ตาย แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ห้ามชำแหละ หรือนำไปบริโภค และไม่ให้บริโภคเนื้อดิบ 6.) สอบสวนโรค และค้นหาสัตว์ป่วย รวมถึงเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน ในพื้นที่เสี่ยง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 7.) ตั้งจุดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ไม่ให้นำสัตว์ในพื้นที่เสี่ยงออกนอกพื้นที่

ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารได้ตั้งศูนย์จ่ายยา ณ วัดโพนสว่าง บ้านโคกสว่าง หมู่ 6 ตำบลเหล่าหมี อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร


นายสัตวแพทย์ ต่อพงศ์ ประเสริฐสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร นายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์มุกดาหาร ได้ร่วมดำเนินการทำลายเชื้อจากดิน และอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ในพื้นที่บ้านโคกสว่าง หมู่ที่ 6 อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) และใช้บริเวณดังกล่าวชำแหละเนื้อโค ได้ดำเนินการฆ่าเชื้อด้วยยาฆ่าเชื้อ ในบริเวณจุดฆ่าและชำแหละซาก ฝังซาก และบริเวณคอกเลี้ยงโค จำนวน 3 คอก 

รวมไปถึงดิน และอุปกรณ์ที่ใช้ชำแหละเนื้อโค จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ทำลายเชื้อ และอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคแอนแทรกซ์ ประกอบด้วย เขียง มีด และอื่นๆ โดยวิธีฝังกลบเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคระบาดสัตว์ต่อไป




โดยสรุปข้อมูลจาก สสจ.มุกดาหาร รายงานสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.เหล่าหมี อ .ดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 68 มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่วันนี้ 1 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยเข้าข่าย 2 ราย (รักษาตัวที่ รพ.มุกดาหาร และ รพ.ดอนตาล ) สะสมรวม 2 ราย ผลการเฝ้าระวังผู้สัมผัส ผู้สัมผัสทั้งหมด 636 ราย สิ้นสุดระยะเฝ้าระวังโรค 538 ราย อยู่ในระยะเฝ้าระวังโรคทางผิวหนังและทางเดินอาหาร 98 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น