ตราด- สหกรณ์บ้านเงาะตราด เตรียมส่ง "เงาะตราดสีทอง" ลุยดูไบ มั่นใจศักยภาพไปได้ ชี้เพิ่มโอกาสขยายตลาดผลไม้ไทยในต่างแดนหลังตลาดหลักประเทศเวียดนามเริ่มแข่งขันสูง ส่วนการขายในไทยพร้อมปรับแพ็กเกจจำหน่ายใหม่จากใหญ่สู่เล็ก ตอบโจทย์ผู้บริโภคเมืองกรุง รับประทานครั้งละไม่มากแต่เน้นคุณภาพดี
เมื่อเร็วๆนี้ นายธนภัทร จาวินัจ ผู้จัดการ สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคการเกษตรจังหวัดตราด (บ้านเงาะตราด) พร้อมด้วย น.ส.วรรณพร บัณทิตภูวนนท์ สหกรณ์จังหวัดตราด และนางชนัญกาญจน์ บัญญวัตวิวัฒน์ เกษตรอำเภอเขาสมิง ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปยังสวนเงาะของ นางอุไร ละม่อน ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง เพื่อติดตามการเก็บเกี่ยวผลผลิตเงาะพันธุ์ "ตราดสีทอง" รุ่นแรกในปีการผลิต 2568 พร้อมตรวจสอบคุณภาพผลผลิต
ก่อนจะส่ง "เงาะพันธุ์ตราดสีทอง" เข้าร่วมในงานแสดงสินค้าเกษตรและผลไม้จากประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเปิดตลาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกกลาง
ผู้จัดการ สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคการเกษตรจังหวัดตราด (บ้านเงาะตราด) เผยว่าแม้การส่งออกผลไม้ไทยไปดูไบ จะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีเอกชนหลายเจ้าส่งสินค้าไปขายบ้างแล้ว แต่ในปี 2568 นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ “ระบบสหกรณ์” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้ “เงาะไทย” ที่กำลังถูกผลักดันให้เป็นตัวแทนสินค้าคุณภาพของเกษตรกรภาคตะวันออก
" สหกรณ์ฯ ได้รับโอกาสจาก กรมการค้าภายใน ให้ได้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดดูไบ ซึ่งอาจเป็นโอกาสใหม่ในการขยายช่องทางจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกผ่านระบบสหกรณ์โดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดหลักของสหกรณ์ฯ อยู่ที่ประเทศเวียดนาม แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันที่สูง ทำให้สหกรณ์ต้องเร่งหาตลาดทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษาราคาผลผลิต" ผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าว
เช่นเดียวกับ น.ส.วรรณพร สหกรณ์จังหวัดตราด ที่เห็นว่าว่า ตลาดดูไบ มีศักยภาพสูงในการนำเข้าผลไม้จากไทย เนื่องจากผลไม้ไทยมีคุณภาพดีตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ และการนำสินค้าไปทดลองจำหน่ายในครั้งนี้จะไม่มีแค่เพียง เงาะและมังคุด เท่านั้นแต่ยังจะมีผลไม้ชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย
นอกจากนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังมีแผนจับมือร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์ ในการนำผลไม้คุณภาพดีรุกตลาดภายในประเทศ ด้วยการทำแพ็กเกจเล็ก เพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ที่นิยมบริโภคในปริมาณไม่มากในแต่ละครั้ง ซึ่งในหนึ่งแพ็กเกจจะรวมผลไม้หลายชนิดและจะเป็นปีแรกที่เริ่มโครงการ
โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ก่อน เพื่อให้เป็นกลุ่มต้นแบบในการทดลองชิมผลไม้คุณภาพเทียบเท่าสินค้าส่งออก สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าสหกรณ์ไทย
" ในปีมีผลผลิตมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออก ที่ต้องยอมรับว่าราคาผลผลิตอาจลดลงตามกลไกตลาด แต่สหกรณ์ฯ ก็จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้สมาชิกผลิตเงาะที่มีคุณภาพ พร้อมขายผ่านระบบที่ช่วยให้เข้าถึงราคาดีและตลาดที่เหมาะสมตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายจาก “หีบใหญ่” สู่ “แพ็คเล็ก” ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ต้องการซื้อเงาะเป็นกิโลกรัม แต่เน้นปริมาณเล็ก ๆ เช่น 5–10 ลูกต่อแพ็ค " สหกรณ์จังหวัดตราด กล่าว