กาฬสินธุ์ - ชาวนากาฬสินธุ์ช้ำ ราคาขายข้าวเปลือกนาปรังชะลอตัวตันละ 7,000 บาท เผยต้นทุนผลิตต่อไร่สูง รายได้ไม่คุ้มทุน วอนรัฐบาลควบคุมราคาปุ๋ยเคมีที่เป็นต้นทุนหลัก เผยหากลานรับซื้อข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 8 บาทชาวนายิ้มได้ พอมีกำไรเหลือใช้หนี้ ธ.ก.ส.
บรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง พื้นที่ อ.ยางตลาด และ อ.เมืองกาฬสินธุ์ พื้นที่ต้นน้ำได้รับน้ำจากคลองชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) พบว่ากำลังเร่งเก็บเกี่ยวข้าวกันอย่างคึกคัก เนื่องจากรวงข้าวได้อายุเก็บเกี่ยว ต้องเร่งเก็บเกี่ยวก่อนจะมีฝนตกลงมา อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรือทำให้รวงข้าวหัก เมล็ดร่วงหล่นเสียหาย ทำให้ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าวแทบไม่มีเวลาพักต้องเร่งเกี่ยวข้าวตลอดวันและกลางคืน คิดราคาเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท
นายประเทือง ภูนาชัย อายุ 65 ปี ชาวนาบ้านเชียงงาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ราคาขายข้าวเปลือกนาปรังปี 67 ที่ผ่านมาค่อนข้างดี ได้ราคาตันละ 7,500-8,000 บาท ขณะที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้เริ่มต้นที่ตันละ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าราคาขายข้าวเปลือกนาปรังอยู่ในระดับนี้ตลอด ยังไม่มีหลักประกันจากรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวนาปรังหรือข้าวฤดูแล้ง ไม่เหมือนกับข้าวนาปีที่ได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือค่าเกี่ยว ขณะที่ต้นทุนผลิตสูงขึ้น ทั้งค่ารถไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถเกี่ยวข้าว ค่าขนส่ง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีนั้นกระสอบ 50 กิโลกรัม ราคาสูงขึ้นกระสอบละ 1,200 บาททีเดียว
ต้นทุนการทำนาปีนาปรังสูงขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีดังกล่าว หากรวมทั้งหมดต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาททีเดียว หากผลผลิตต่อไร่ได้ไร่ละ 400 กิโลกรัม ขายข้าวเปลือกราคากิโลกรัมละ 7 บาท ได้ 2,800 บาท มีกำไร 800 บาท แต่หากผลผลิตต่ำกว่านั้น ส่วนใหญ่ทำนาหว่าน ได้ผลผลิตต่ำเฉลี่ยไร่ละ 200-300 กิโลกรัม คำตอบสุดท้ายคือขาดทุนหรือไม่คุ้มทุนแน่นอน
“ปัจจัยสำคัญของการทำนา คือปุ๋ยเคมี หากรัฐบาลหรือกระทรวงพาณิชย์ลงมาควบคุมราคา ไม่ปล่อยให้นายทุนฉวยโอกาสขึ้นราคา โดยไม่มีเพดานจำกัดอย่างที่เป็นมา ชาวนาก็ขาดทุนย่ำแย่ ผมและเพื่อนชาวนาหลายรายพยายามจะลดทุนทำนา โดยใช้ปุ๋ยคอก ใช้สารปรับปรุงดิน แต่ข้าวเติบโตช้า ออกรวงไม่ดี ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงหันมาใช้วิธีลดพื้นที่ทำนาปรัง โดยแบ่งเนื้อที่แปลงนาไปปลูกข้าวโพด ผักพาย ถั่วลิสง เป็นอาชีพเสริมและรายได้เสริม” นายประเทืองกล่าว
ทั้งนี้ ความต้องการของชาวนาส่วนใหญ่ระบุว่า หากควบคุมราคาปุ๋ยเคมีลง เป็นกระสอบละ 600-700 บาทเหมือนหลายปีที่ผ่านมา และปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง จากตันละ 7,000 บาท อย่างน้อยตันละ 8,000-9,000 บาท ชาวนามีกำไรอยู่ได้ มีเงินเหลือใช้หนี้ ธ.ก.ส. แต่ทุกวันนี้ทุนหายกำไรหด ชาวนางบางคนขายข้าวนาปรังกลับมา แทบไม่เหลือเงินไปจ่ายหนี้ค่าปุ๋ยเคมี ส่วนคนที่ได้กำไรบ้างก็แค่พอไปใช้ดอกเบี้ย ธ.ก.ส.เท่านั้น เพราะเงินต้นยังไม่มีจ่ายคืน ธ.ก.ส.