xs
xsm
sm
md
lg

“โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ” ชัยชนะที่เกิดจากการอนุรักษ์และพัฒนาบนวิถีชีวิตชาวชุมชนอัมพวา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - ชวนมาทำความรู้จัก “โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ” แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนอัมพวา หวังอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา

ดร.กมลทิพย์ กันตะเพ็ง ผู้จัดการโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ กล่าวว่าโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ (มูลนิธิชัยพัฒนา)ตั้งอยู่ ต.อัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามมีเนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการ เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวา
 
ปัจจุบันโครงการฯได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินงานได้แก่หลัก “ภูมิสังคม” และหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง”ซึ่งเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตที่รอให้ผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชมได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลินจากวิถีชีวิตของชาวชุมชนอัมพวา สมกับชื่อพระราชทานว่า “โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์” หมายถึง "ชัยชนะที่เกิดจากการอนุรักษ์และพัฒนาบนวิถีชีวิตชาวชุมชนอัมพวา"
           
ภายในโครงการประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น สวนสาธิตการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวา และยังมี “เตาตาล” เป็นศูนย์สาธิตการทำน้ำตาลมะพร้าวแท้ 100%แต่มีค่าความหวานแค่ 35 GI ใช้วิธีเคี่ยวแบบโบราณตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ใส่น้ำตาลทราย แบะแซ หรือสารเคมีใดๆ ให้คณะดูงานและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน โดยวิทยากรชุมชน

มีร้าน “ชานชาลา” จำหน่ายอาหารว่างและเครื่องดื่ม ที่เปิดเชื่อมโยงพื้นที่ริมคลองอัมพวากับพื้นที่ลานร้านค้าชุมชน และสวนอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ส่งเสริมการค้าขายริมคลองอัมพวาให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น เมนูเด่น คือ “น้ำม่วงชื่นชานชาลา” เครื่องดื่มสูตรพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และลานร้านค้าชุมชน ลานอเนกประสงค์จัดการแสดง และกิจกรรมทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีร้าน “ภัทรพัฒน์” (อ่านว่า พัด พัด) จำหน่ายและส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.สมุทรสงคราม ชุมชนในจังหวัดใกล้เคียง และผลิตภัณฑ์จากร้านภัทรพัฒน์และโครงการอื่นๆ ของมูลนิชัยพัฒนา โดยยังคงเอกลักษณ์ของชุมชนสมุทรสงครามและเน้นหลักการ Social Enterprise: SE หรือกิจการเพื่อสังคมมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายรวมกว่า100 ผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ 60% และสินค้าของโครงการต่างๆในมูลนิธิชัยพัฒนาภายใต้ตราภัทรพัฒน์40% เป็นการรวบรวมของดีเมืองสมุทรสงครามมากมาย เช่น ดอกเกลือจากเกลือสมุทร กะปิคลองโคนผลิตจากเคยตาดำ มะพร้าว หัวน้ำปลา และยังมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเกลือสมุทรและมะพร้าวอีกมากมาย รวมทั้งเครื่องสำอาง เครื่องจักสานและผลิตภัณฑ์จากผ้าทอของชุมชน เป็นต้น
             
สำหรับร้าน ภัทรพัฒน์ ในความหมายของ “ภัทรพัฒน์” นั้น “ภัทร” หมายถึง ดี เจริญ ประเสริฐ งาม เป็นมงคล "พัฒน์" หมายถึง ทำให้เจริญ ส่วนตราสินค้า “ภัทรพัฒน์” เป็นรูปเลขเก้าไทย สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ องค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา หากมองอีกในมิติหนึ่งจะเห็นเป็นรูปช้างหมอบอยู่ในวงรีรูปไข่และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานชื่อช้างในตราสัญลักษณ์ ว่า “พลายภัทรพัฒน์” ร้านภัทรพัฒน์เป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกรหรือผู้ผลิตขายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ต่อสังคมในวงที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคที่กำลังมองหาสินค้าแปลกใหม่ที่มาจากแหล่งต้นกำเนิดโดยตรง
           
โครงการฯ เปิดทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 08.30–16.30 น. วันศุกร์ เวลา 08.30–19.00 น. เสาร์–อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตกฤษ์ เวลา 08.30 –21.00 น. ส่วนคณะศึกษาหากจะมาดูงานจะต้องจองล่วงหน้า 1 เดือน ระยะเวลาการทำกิจกรรมขึ้นอยู่กับทางคณะที่ต้องการซึ่งผู้ที่เข้าศึกษาดูงานจะได้รับความรู้จากการสาธิตและกิจกรรมการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน อาทิ การวาดลายเบญรงค์ การทำขนม หรือ อาหารพื้นถิ่น สอนโดยวิทยากรชุมชน โดยเสียค่าบำรุงสถานที่คนละ 20 บาท แต่หากท่านใดจะวอล์คอินมาเที่ยวชมส่วนตัว สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสอบถามได้ทางโทรศัพท์034-752-245 หรือ E-Mail:amphawa_chaipattananurak@hotmail.comหรือทางเพจเฟสบุ๊ค อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ หรือทาง  line id @amphawanurak










กำลังโหลดความคิดเห็น