xs
xsm
sm
md
lg

แปลก! ผึ้งหลวงทำรังใต้คางพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทุกปีจนมีฉายา “พระเครา”วัดโคราช เชื่อศักดิ์สิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- สุดแปลก ผึ้งหลวงทำรังใต้คางพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทุกปี จนมีฉายา “พระเครา” ที่วัดป่าหิมพานต์ อ.ครบุรี โคราช เผย“พระพุทธชินสีห์” มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองช่วยดลบันดาลพร ให้ผู้กราบไหว้ขอพรได้สมหวังดังปรารถนาโดยเฉพาะเรื่องการค้าขาย คดีความ และชีวิตคู่

วันนี้ (28 เม.ย.68) ผู้สื่อข่าว พาไปดูความความสวยงามและเรื่องแปลกที่ วัดป่าหิมพานต์ ที่บ้านไทรโยง ต.ครบุรี อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ลำดับที่ 21 ของจังหวัดนครราชสีมา โดยภายในวัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อว่า “พระพุทธชินสีห์” เป็นพระพุทธรูปหล่อ แบบเชียงแสนผสมสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 เมตร สูง 12 เมตร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อใหญ่” ซึ่งนอกจากจะมีรูปลักษณะที่สวยงามวิจิตรแล้ว ที่บริเวณคางของพระพุทธรูปองค์นี้ ยังมีผึ้งหลวงมาทำรังอยู่ 1 รัง เมื่อมองดูระยะไกลจะคล้ายกับพระพุทธรูปมีเครา และที่สำคัญยังมีร่องรอยการทำรังของผึ้งหลวงติดอยู่ที่บริเวณคางใกล้กันอีกหลายรอย ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ทุกปีจะมีผึ้งหลวงมาทำรังที่จุดนี้เป็นประจำจนชินตา และไม่เคยพบว่าจะไปทำรังในจุดอื่น จนชาวบ้านบางคนเรียกว่า “พระเครา”


จากการสอบถาม นายเมธา สินทมครบุรี อายุ 40 ปี ลูกศิษย์วัดฯ เล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อว่า พระพุทธชินสีห์ หรือ หลวงพ่อใหญ่ ที่ชาวบ้านแถบนี้เรียกกันติดปาก จะมีอยู่ด้วยกัน 2 องค์ โดยองค์ใหญ่ที่เห็นอยู่ มีหน้าตักกว่า 8 เมตร สูง 12 เมตร จะสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อปี พ.ศ.2552 ทับองค์เก่าที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งองค์เก่ามีหน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535


ทางพระครูสุวรรณชินวงศ์ หรือ หลวงพ่อทอง ชินวังโส เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น ก่อนจะมีดำริให้สร้างพระพุทธชินสีห์องค์ใหม่นั้น ได้มีสองผัวเมียคู่หนึ่งเข้ามาหาที่วัด พร้อมกับนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย เพื่อให้บรรจุลงในองค์พระ ซึ่งในระหว่างที่หลวงพ่อทอง กำลังพิจารณาดูพระบรมสารีริกธาตุ และเงยหน้าขึ้นเพื่อที่จะสอบถามสองผัวเมียเพิ่มเติม ก็พบว่า สองผัวเมียนั้นได้หายไปแล้ว ไม่รู้ว่าสองผัวเมียคู่นั้นเป็นใครมาจากไหน เพราะไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน แต่พระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมานั้น ก็ถูกนำไปบรรจุที่บริเวณอกด้านซ้ายขององค์พระในที่สุด โดยใช้ช่างจากทางภาคเหนือมาดำเนินการจัดสร้าง


ส่วนเรื่องของผึ้งหลวงที่มาทำรังอยู่บริเวณคางขององค์พระใหญ่นั้น จะมาให้เห็นและทำรังบริเวณคางขององค์พระเป็นประจำทุกปีตั้งแต่จัดสร้างเสร็จ โดยเริ่มพบเห็นได้ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี และไม่ยอมไปทำรังบริเวณอื่น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใกล้เคียง โบสถ์ ศาลา รวมถึง จุดอื่นๆขององค์พระ ก็ไม่เคยพบเห็นไปทำรัง จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ หลายคนเรียกกันว่า “พระเครา” และเชื่อกันว่า เป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองช่วยดลบันดาลพร ให้ผู้ที่มากราบไหว้ขอพรได้สมหวังดังใจปรารถนาโดยเฉพาะในเรื่องของการค้าขาย คดีความ และชีวิตคู่ เป็นต้น








กำลังโหลดความคิดเห็น