กาญจนบุรี - นักธรณีวิทยา พูดถึง เมืองกาญจนบุรีกับแนวโน้มแผ่นดินไหวและความเป็นไปได้ของการเกิดคลื่นสึนามิกลาง 2 เขื่อนใหญ่ โอกาสเกิดสึนามิในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เชื่อว่าเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสภาพธรณีวิทยาของชั้นหินที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหินปูน หินทรายเนื้อแน่น แต่ที่น่ากังวลกว่าคือ น้ำไหลออกจากเพราะรอยยุบตัวด้านนอกข้างอ่าง
ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีวิทยา นักวิจัยธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยว่า มีหลายคนถามผมว่า แผ่นดินไหวทั่วโลกเกิดถี่ขึ้นจริงหรือ ประเทศไทยของเราถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวลำดับใดของโลก ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคอื่นๆ เป็นอย่างไร ทำไมจึงมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวไม่เท่ากัน กาญจนบุรีเสี่ยงฯมากไหม โอกาสเกิดสึนามิในเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ฯลฯ
บางคนคงลืมนึกไปว่า โลกของเราเป็นพลวัต มีธรรมชาติเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เคยมีการประเมินกันว่าแผ่นดินไหวขนาด 2 ริกเตอร์เกิดขึ้นทั่วโลกปีละ 1ล้านครั้ง ขนาด 3 ริกเตอร์ฯประมาณ 1แสนครั้งต่อปี ขนาด 4 ริกเตอร์ฯประมาณ 1หมื่น 2 พันครั้งต่อปี ธรรมชาติให้ความกรุณาแผ่นดินนี้มาก ให้เราถือหุ้นในส่วนนี้ไว้น้อยมาก เมื่อมองในบริบทธรณีสัณฐานของโลกแล้ว พื้นที่ประเทศไทยโดยรวมมีเสถียรภาพสูงแห่งหนึ่งของโลกที่ค่อนข้างปลอดจากการเกิดแผ่นดินไหวโดยเฉพาะที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณแนวรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยถือเป็นพื้นที่เฝ้าระวังที่มีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวระดับต่ำถึงระดับปานกลาง (<6 ริกเตอร์) สิ่งก่อสร้างที่ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างดีคงไม่ได้รับผลกรทบ หรืออาจแค่เสียหายเล็กน้อย กล่าวคือมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายระดับน้อยถึงปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบสภาพธรณีวิทยาสัณฐานกันโดยละเอียดแล้ว
โอกาสที่ประเทศไทยจะเผชิญพิบัติภัยแผ่นดินไหวรุนแรงโดยตรงเป็นบริเวณกว้าง แบบญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย เมียนมา จีนตอนใต้ นิวซีแลนด์ หมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ชิลี เฮติ หรือชายฝั่งแคลิฟอเนียของสหรัฐอเมริกานั้น น้อยมาก (รูปที่ 1) แผ่นดินไหวขนาดปานกลางระดับตื้นและตื้นมากต่างหากที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นปรกติสุขต่อพื้นที่ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนมีพลังนั้นๆ ไม่แพ้แผ่นดินไหวระดับรุนแรงจากระยะไกลที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และแผ่นดินไหวมัณฑะเลที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568! ทีนี้ ลองมาดูกรณีศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี รูปที่ 1 ธรณีสัณฐานของโลกแสดง ภาวะสมดุลแรงของแผ่นดินซุนด้ารวมถึงประเทศไทย(ซ้าย) และความหนาแน่นของการกรยกตัวของแผ่นดินไหวขนาดกลาง และขนาดใหญ่ตามแนวรอยต่อแผ่นธรณี (ชั้นเปลือกโลก +ชั้นเนื้อโลกส่วนบนสุด) และรอยเลื่อนมีพลังที่เกี่ยวเนื่อง (ขวา)
กาญจนบุรีกับความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว กาญจนบุรีประสบกับแผ่นดินไหวขนาดเล็ก (< 4 ริกเตอร์) เป็นครั้งคราว และแผ่นดินไหวขนาดกลาง (5.9 ริกเตอร์) ในปี พ.ศ. 2526 หนึ่งครั้งที่อำเภอศรีสวัสดิ์ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ระยะไกลก็สามารถส่งผลกระทบต่อจังหวัดกาญจนบุรีได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่สุมาตรา ขนาด 9.2 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่มีศูนย์กลางการเกิดฯในทะเลอันดามัน บริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา และอยู่ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีเป็นระยะทางประมาณ 1,400 กม.
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างผลกระทบและความตื่นตระหนกไม่น้อยต่อชุมชนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะอำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ พื้นที่ภาคตะวันตก ภาคกลางและชายทะเลฝั่งตะวันตกของแหลมไทย คราวนั้น มีสองปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจติดตามเกี่ยวกับน้ำใต้ดินและพุน้ำร้อนตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ กล่าวคือ ชาวบ้านสังเกตเห็นน้ำในบ่อน้ำร้อนบ้านหินดาดในเขตอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีมีสภาพขุ่นขาวและอุณหภูมิของน้ำในบ่อสูงขึ้นมากผิดปรกติช่วงเกิดแผ่นดินไหวข้างต้น
และอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่บ้านเขาหลาว (ร้านชำคุณบุญส่ง ใกล้สามแยกวังมะนาว) ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรียิ่งน่าสนใจ น้ำในบ่อน้ำผิวดินของชาวบ้านเขาหลาว มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในบ่อเพิ่มสูงขึ้นมาก จากปกติ 29 องศาเซลเซียส เป็น 48 องศาเซลเซียส ในวันที่ 28 ธันวาคม 2547 (ไม่มีการใช้น้ำในวันที่ 26 – 27 ธันวาคม) และอุณหภูมิลดลง 2 องศาเซลเซียสทุก 24 ชั่วโมง และใช้เวลา 9-10 วัน กว่าอุณหภูมิจะลดลงสู่สภาวะปกติ
ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่าสมัยท่านเป็นเด็กบ้านเขาหลาวบริเวณที่ท่านกำลังเลี้ยงวัวเคยมีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ ที่น่าสนใจคือพื้นที่ตั้งบ่อน้ำทั้งสองแห่งข้างต้น ต่างวางตัวเรียงกันเหมือนเป็นส่วนต่อด้านทิศตะวันออกเฉียงของแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจเกี่ยวกับรอยเลื่อนมีพลังและธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ข้างเคียง มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อทำการศึกษาวิจัยธรณีสัณฐานและลักษณะโครงสร้างของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์โดยบูรณาการธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ กับความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ข้างเคียง การวัดอัตราการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนทั้งสองฯ การติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของแหล่งน้ำพุร้อนและบ่อน้ำบาดาลตามแนวรอยเลื่อนมีพลังทั้งสองฯ (รูปที่ 2)
ข้อสรุปผลการศึกษาฯโดยสังเขปเป็น ดังนี้ (1) ข้อมูลการขุดร่องสำรวจรอยเลื่อนโบราณในอดีต พบว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมาแล้วเป็นระยะ โดยช่วงแรกเกิดขึ้นเมื่อ 3 - 6 แสนปีที่แล้ว 3 ครั้ง ช่วงที่สอง1.8 – 2.4 แสนปี 2 ครั้ง ช่วงที่สาม 6 - 7หมื่นปี 1ครั้ง และช่วงที่สี่ 2.2 หมื่นปี(ที่แล้ว) 1 ครั้ง
ข้อมูลเพิ่มเติมจากการขุดร่องสำรวจของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลฯในครั้งนั้น ได้พบร่องรอยการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตเพิ่มอีกสี่ครั้ง โดยแผ่นดินไหวสองครั้งแรกเกิดขึ้นในพื้นที่รอยเลื่อนย่อยศรีสวัสดิ์ ในเขตพื้นที่บ้านทุ่งมะกอก ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อประมาณ 16,000-16,800 และ 10,500 – 7,400 ปีที่แล้ว ขนาดสูงสุดประมาณ 7.0 ริกเตอร์
แผ่นดินไหวครั้งที่สาม พบในโซนรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เกิดจากรอยเลื่อนย่อยเขาแหลม ในพื้นที่บ้านองธิ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ 7,000 ปีที่แล้ว ขนาดสูงสุดประมาณ 7.0 ริกเตอร์ มีอัตราการเคลื่อนตัว 0.28 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนแผ่นดินไหวครั้งที่สี่ เกิดจากส่วนปลายด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในพื้นที่บ้านซองกาเลีย ตำบลปรังผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว ขนาดสูงสุดประมาณ 7.10 ริกเตอร์ มีอัตราการเคลื่อนตัว 0.57 มิลลิเมตรต่อปี
ผลการศึกษาแผ่นดินไหวโบราณจากการขุดร่องสำรวจฯ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคาบการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ปานกลางแต่ละครั้งยาวนานนับพันๆปี (2) การวัดอัตราการเคลื่อนตัวของของรอยเลื่อนด้วยเครื่องวัดพิกัดดาวเทียม (GPS) ผลการตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองฝั่งรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ภายใต้โครงการศึกษารอยเลื่อนทั้งสองกับแผ่นดินไหวฯ ในช่วง 4 ปีของโครงการฯ (2548 -2552) ไม่พบว่ามีการเคลื่อนตัวของจุดอ้างอิงต่างๆ ที่มีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการตรวจวัดอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในเขตซุนด้า
โดยระบบวัดค่าพิกัดดาวเทียมแบบ SEANERGES GPS ที่พบว่าในส่วนของประเทศไทยนั้น การเคลื่อนตัวของหลายๆตำแหน่งในพื้นที่ภาคเหนือ และบริเวณแหลมไทยมีอัตรา ระหว่าง 2 มิลลิเมตรต่อปี และ2 – 3 มิลลิเมตรต่อปีตามลำดับ ส่วนบริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก การเคลื่อนตัวอยู่ที่ ประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี (รูปที่3: a. Simal et al. 2007 & b. Caltech Tectonics Observatory, Sichuan Earthquake 2551)
รูปที่ 3 a แสดงแนวมุดตัวแผ่นธรณีในทะเลอันดามัน หัวลูกศรแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ตัวเลขหน่วยเป็น มม & b หัวลูกศรสีแดงแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ ความยาวลูกศรแสดงความเร็วของการเคลื่อนฯ แผ่นธรณีอินเดียเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในอัตราประมาณ 50 มม ต่อปี
(3) อุณหภูมิน้ำพุร้อน กับการเกิดแผ่นดินไหว ประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนที่พบแล้วมากกว่า 90 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ แหล่งน้ำพุร้อนข้างต้นทั้งหมดเกิดในบริเวณแนวรอยเลื่อนมีพลัง และมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง
การติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ระดับน้ำ และสมบัติทางกายภาพอื่นๆของน้ำบาดาลและน้ำพุร้อนแบบอัตโนมัติ ในบ่อสังเกตการณ์ที่เจาะตามแนวรอยเลื่อนโดยเฉพาะรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์จำนวน 7 บ่อ ในช่วง 4 ปีของโครงการฯ ไม่พบค่าผิดปรกติที่มีนัยสำคัญ นอกจากการผันแปรตามฤดูกาล
ข้อมูลจากการศึกษาอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่พื้นผิวดิน พบว่าอุณหภูมิน้ำพุร้อนในแหล่งภาคเหนือ และภาคใต้มีอุณหภูมิ 80 – 100 องศาเซลเซียส และ 60 – 79 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ส่วนอุณหภูมิน้ำพุร้อนในแหล่งภาคกลางและภาคตะวันตก มีอุณหภูมิต่ำกว่ามากเพียง 37 – 59 องศาเซลเซียส
รูปที่ 4) ลักษณะที่ปรากฏเช่นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า รอยเลื่อนมีพลังซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดน้ำพุร้อนใน ภาคเหนือ และภาคใต้ มีการขยับตัวหรือไหวตัวบ่อยครั้งมากกว่าและรุนแรงกว่ารอยเลื่อน รูปที่ 4 แผนที่แสดงการกระจายตัวของแหล่งน้ำพุร้อนต่างๆ ในประเทศไทย และอุณหภูมิน้ำร้อน (กรมทรัพยากรธรณี 2533) และ (4) รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (NW-SE) และรอยเลื่อนระนอง (NE-SW) การศึกษาแนวการวางตัวของแหล่งน้ำพุร้อนตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และตำแหน่งจุดร้อนใต้พิภพจากข้อมูลการสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย พบว่าแนวการวางตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์พาดลงอ่าวไทยผ่านบ้านเขาหลาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
โดยส่วนที่อาจต่อเนื่องยาวลงไปในอ่าวไทย มีลักษณะการเหลื่อมกัน เหมือนถูกตัดผ่านด้วยรอยเลื่อนระนองที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ (รูปที่ 5) ลักษณะเช่นนี้ ทำให้รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแนวระดับเลื่อมขวา ถูกทอนพลังลงมากไม่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ
นอกจากนั้น การแปรความหมายข้อมูลธรณีฟิสิกส์จากการสำรวจในที่ลุ่มกรุงเทพฯตามแนวตั้งแต่บางเขน ถึงสมุทรสงคราม ไม่พบว่ามีแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ซ่อนอยู่ใต้ชั้นตะกอนบริเวณแนวดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศเมียนมา(รัฐทวาย)และประเทศไทย ที่แนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ไม่ได้ผ่านเข้ามาใต้กรุงเทพมหานคร”ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล เผย
ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล เผยโดยสรุปว่า ข้อมูลพื้นฐานที่มีในปัจจุบันบ่งชี้ว่า รอยเลื่อนสะกายในเมียนมา มีระนาบของรอยเลื่อนเอียงเทไปทางตะวันตกนั้น เป็นคุณต่อรัฐทวายและประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี การเลื่อนแบบเหลี่ยมขวาทำให้แรงถูกถ่ายไปทางเหนือของเมียนมา ผ่านตะวันออกของนครร่างกุ้ง กรุงเนปิดอ มัณฑะเล และเมืองสกายมากกว่า หลักฐานการเคลื่อนตัวของแผ่นดินและอุณภูมิน้ำพุร้อนสะท้อนให้เห็นว่าภาคตะวันตกและภาคกลางมีความเสถียรต่อแผ่นดินไหวมากกว่าพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ และร่องรอยที่รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์อาจถูกตัดด้วยรอยเลื่อนระนองยิ่งทำให้ความมีพลังของรอยเลื่อนแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ถูกทอนพลังลงมาก
รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ไม่ได้น่ากลัวมากอย่างที่จิตนาการ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวระดับปานกลาง ที่สิ่งปลูกสร้างหลายประเภทต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ ว่าด้วยการก่อสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวอย่างเครงครัต เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
ในส่วนของโอกาสเกิดสึนามิในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ นั้นตนเองเชื่อว่าเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสภาพธรณีวิทยาของชั้นหินที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหินปูน หินทรายเนื้อแน่น มีชั้นหินพุและชั้นดิน (regolith) ค่อนข้างบาง มีพืชปกคลุมดินหนาแน่น ไม่ปรากฏโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่อ่อนไหวขนาดใหญ่ เช่นระนาบชั้นหินและระนาบรอยเลื่อนที่วางตัวเอียงเทลงไปในทิศทางของอ่างเก็บน้ำทั้งสอง มวลเศษหินดินทรายมีไม่มากพอที่จะถล่มลงไปในน้ำในตำแหน่งที่พอดีทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ความลาดชั้นอย่างเดียวไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดการเกิดดินถล่ม แม้ในกรณีที่ถูกกระตุ้นด้วยคลื่นแผนดินไหวค่อนข้างรุนแรงระยะใกล้ๆ ก็ตาม
สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่เรื่องน้ำล้นหรือน้ำกระฉอกที่อาจเกืดจากแผ่นดินไหว แต่เป็นเรื่องน้ำรั่วไหลออกจากอ่างหากเกิดหลุมยุบจากโพรงถ้ำหินปูนใต้ดินข้างตัวอ่างเก็บน้ำ หรือโพรงหินปูนที่รองรับอยู่ใต้อ่าง และหลุมยุบเหล่านั้นมีการเชื่อมกันใต้ดินในวงกว้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า