xs
xsm
sm
md
lg

รพ.นครปฐม แจงเดินหน้าช่วยเหลือประสานการเยียวยาจากผู้ป่วยแพ้ยาตามขั้นตอนแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครปฐม – รพ.นครปฐม ออกหนังสือชี้แจงกรณีผู้ป่วยแพ้ยาป้องกันอาการชักจนทำให้ดวงตามองไม่เห็น หลังจากมีการร้องสื่อว่าไม่ได้รับการดูแล ผู้ป่วยมีอาการเนื้องอกในสมองจึงมีการให้ยาสำหรับอาการชัก มีการติดตามดูแลดูแลรักษาอย่างเป็นขั้นตอน และเดินเรื่องในการขอเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ 2.4 แสนบาท พร้อมดูแลการรักษาที่ ทั้งหมดครบตามกระบวนการไม่ได้มีการทอดทิ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี นางสาวบุญทรง ปุยะพันธ์ อายุ 47 ปี ชาวอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยพี่ชายได้ออกมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่าได้มีอาการปวดหัวและเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลกำแพงแสน ก่อนจะถูกส่งตัวมาทำการ รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลนครปฐม เมื่อประมาณเดือนสิงหาคมปี 2567 แต่เกิดอาการแพ้ยาแก้ชักทำให้ดวงตาบอด ผิวหนังพุพองต้องรักษาตัวอยู่นาน โดยได้รับเงินชดเชยจาก สปสช.มาแล้ว 2.6 แสนบาท แต่ยังไม่ได้รับการชดเชยจากทางโรงพยาบาลนครปฐมแต่อย่างใด จึงวอนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยตรวจสอบและช่วยเหลือเนื่องจากต้องกลายเป็นผู้พิการไม่สามารถทำงานได้

โดยล่าสุด วันนี้ (25 เม.ย.) โรงพยาบาลนครปฐม ได้มีการออกหนังสือขอชี้แจงการรักษาผู้ป่วยเนื้องอกในสมอง และเกิดภาวะแพ้ยารุนแรง ซึ่งระบุข้อความ ผ่านหน้าแฟนเพจ ของโรงพยาบาลนครปฐมมีข้อความ ว่า โรงพยาบาลนครปฐม ขอชี้แจงการรักษาผู้ป่วยเนื้องอกในสมองและเกิดภาวะแพ้ยารุนแรง วันที่ 10 สิงหาคม 2567 เวลา 23.27 น. ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 47 ปี ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลกำแพงแสน มาที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลนครปฐม ด้วยอาการปวดศีรษะ 2 วัน และพูดสับสน โดยผลการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาลกำแพงแสน พบเนื้องอกในสมอง ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร จึงส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลนครปฐม แพทย์ศัลยกรรมประสาทโรงพยาบาลนครปฐม วินิจฉัยเมืองอกในสมอง และรับไว้เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลนครปฐม ผู้ป่วยได้รับการเฝ้าระวังที่หอผู้ป่วยศัลยกรรม โดยยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด สำหรับอาการพูดสับสนนั้น แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นอาการที่พบได้หลังภาวะชักจากโรคเนื้องอกในสมอง แพทย์จึงให้ยากันชัก (Dlantก) เพื่อป้องกันอาการชัก โดยผู้ป่วยไม่มีประวัติแพ้ยา หลังจากนอนโรงพยาบาลได้ 2 วัน ผู้ป่วยอาการคงที่ แพทย์จึงให้กลับบ้านในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 และนัดมาตรวจตามนัด

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ผู้ป่วยมีอาการไข้ ตาแดง มีผื่นตามใบหน้า และลำตัว มาตรวจที่โรงพยาบาลนครปฐม แพทย์วินิจฉัยอาการแพ้ยากันชัก (Dlantin) จึงรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล โดยให้หยุดยาทันที และให้ยาเพื่อลดอาการแพ้ยา ร่วมกับเฝ้าระวังภาวะแพ้ยารุนแรง 2 วันต่อมา ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ผื่นตามตัวเพิ่มขึ้น แพทย์วินิจฉัย ภาวะแพ้ยารุนแรง (Toxic Epidermal Necrolysis: TEN) ซึ่งมีโอกาสได้ประมาณ 1 ในล้าน และมีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 95 แพทย์ให้การช่วยเหลือโดยใส่ท่อช่วยหายใจ และย้ายไปยังห้องผู้ป่วยหนักไอซียู ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและ เมตาบอลิสม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตา ตจแพทย์ (แพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง) และ แพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง

วันที่ 20 กันยายน 2567 อาการโดยรวมดีขึ้น สามารถถอดท่อช่วยหายใจได้ ย้ายออกจากห้องผู้ป่วยหนักไอซียู แต่ยังคงเหลืออาการทางตา ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะแพ้ยารุนแรง จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตาวินิจฉัย ภาวะเยื่อบุตาอักเสบรุนแรง จากภาวะการแพ้ยารุนแรง และลุกลามเข้ากระจกตา ส่งผลให้กระจกตาขุ่น ตาแห้ง ระดับการมองเห็นอยู่ในระดับสายตาเลือนราง (low vion) ทั้ง 2 ข้าง สามารถกลับบ้านได้ ในวันที่ 23 ตุลาคม 2567 โดยมีนัดตรวจติดตามกับจักษแพทย์ด้านกระจกตา และยังได้มีการส่งปรึกษาจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านกระจกตาและด้านตกแต่งเสริมสร้าง โรงพยาบาบาลศิริราชเพิ่มเติม โดยได้วางแผนผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาด้านในที่มีการสร้างคีราตินครูดผิวกระจกตา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้กระจกตาเป็นแผลมากขึ้น ประมาณช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 25668

ทั้งนี้ ภาวะแพ้ยารุนแรง เป็นเหตุสุดวิสัย แต่เมื่อเกิดภาวะแพ้ยารุนแรงขึ้น ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ ปัจจุบัน โรงพยาบาลนครปฐม ยังติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการรักษาภาวะแทรกซ้อนทางตาดีขึ้น โดยโรงพยาบาลนครปฐมได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วย ดังนี้1. รับผิดชอบค่ารักษาและค่ายาส่วนเกินที่ไม่สามารถเบิกได้
2. อำนวยความสะดวกจัดรถโรงพยาบาลรับส่ง กรณีผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชทุกครั้ง 3. ดำเนินการขอเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้รับอนุมัติวงเงิน 216,000 บาท ทางโรงพยาบาลได้อุทธรณ์เพื่อให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเงินเยียวยาอีก 100,000 บาท แต่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอนุมัติเพิ่ม 24,000 บาท โรงพยาบาลนครปฐม วันที่ 25 เมษายน 2568

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากมีการนำเสนอข่าวดังกล่าวไปยังสื่อมวลชนคณะทีมผู้บริหารได้มีการประชุมหารือและได้มีการรวบรวมขั้นตอนการรักษาและการช่วยเหลือเยียวยาทั้งหมดซึ่งได้สรุปว่ากรณีดังกล่าวได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนเป็นกระบวนการอย่างชัดเจนซึ่งทั้งนี้ยังพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยในการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครปฐม และบริการต่างๆที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ป่วยในการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน โดยได้มีคณะทำงานในการดำเนินการขอเยียวยาตามมาตรา 41 กระทั่งได้รับเงินเยียวยาตามที่ผู้ป่วยได้รับไปแล้ว 2.4 แสนบาท






กำลังโหลดความคิดเห็น