นครพนม - เยือนดินแดนพญานาคเที่ยวเมืองริมโขงนครพนมต้องซื้อของฝากท้องถิ่นขึ้นชื่อติดไม้ติดมือฝากมิตรสหาย “หมูยอรุ่งทรัพย์” หมูยอสูตรดั้งเดิมเก่าแก่ชาวญวน อีกหนึ่งสินค้า OTOP ขึ้นชื่อที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดชิมและชอป
หากเอ่ยถึงของฝากขึ้นชื่อแห่งดินแดนพญานาค ใครๆ ก็ต้องนึกถึง “หมูยอ” เนื้อนุ่ม เด้ง หอมกลิ่นใบตองอ่อน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนกลายเป็นสัญลักษณ์ทางอาหารที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวนครพนมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะ “หมูยอรุ่งทรัพย์” แบรนด์เก่าแก่ที่สืบทอดความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ
นางอทิตยา เดชานุกูลวิวัฒน์ เจ้าของสูตรหมูยอรุ่งทรัพย์ เล่าถึงเรื่องราวความอร่อยของ “หมูยอรุ่งทรัพย์” ว่า หมูยอรุ่งทรัพย์มีจุดเริ่มต้นจากการได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมอาหารเวียดนาม (ญวน) ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครพนมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญวนได้นำเอาสูตรการทำ “หมูยอ” แบบดั้งเดิมติดตัวมาด้วย ซึ่งมีกรรมวิธีการทำที่เน้นเนื้อหมูบดละเอียด ปรุงรสด้วยเครื่องเทศหอมกรุ่น
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชาวนครพนมได้นำเอาภูมิปัญญาและวัตถุดิบท้องถิ่นมาประยุกต์ ปรับปรุงรสชาติ “หมูยอ” ให้ถูกปากคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิม แต่เพิ่มความกลมกล่อม นุ่ม เด้ง ไม่กระด้าง และหอมกลิ่นเครื่องเทศที่เป็นสูตรลับเฉพาะ
“หมูยอรุ่งทรัพย์” โดดเด่นด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศที่คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูส่วนสะโพกสดใหม่ เครื่องเทศคุณภาพดี ทั้งกระเทียมไทย พริกไทยดำ น้ำปลาแท้ และเกลือไอโอดีนคลุกเคล้าในอัตราส่วนที่ลงตัว ทำให้ได้รสชาติที่กลมกล่อม หอมอร่อย ไม่มีกลิ่นคาว
นอกจากนี้ กรรมวิธีการนวดหมูด้วยมืออย่างช้าๆ และการห่อด้วยใบตองสดนำไปนึ่ง ยังเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ “หมูยอรุ่งทรัพย์” มีเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์และกลิ่นหอมจากธรรมชาติ
ปัจจุบัน “หมูยอรุ่งทรัพย์” ได้สืบทอดความอร่อยจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีร้านตั้งอยู่บริเวณแลนด์มาร์กพญานาคใจกลางเมืองนครพนม กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่ต้องการลิ้มลองรสชาติต้นตำรับ และซื้อเป็นของฝาก ซึ่งไม่เพียงแต่รสชาติที่ถูกปากเท่านั้น แต่ยังได้รับการการันตีคุณภาพด้วยมาตรฐาน อย., สินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว, มาตรฐาน มผช. และยังเคยได้รับเชิญออกรายการโทรทัศน์หลายครั้ง
หมูยอรุ่งทรัพย์จึงมิได้เป็นเพียงอาหารพื้นบ้านธรรมดา แต่เป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานวัฒนธรรมไทย-เวียดนามอย่างลงตัว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวนครพนม