xs
xsm
sm
md
lg

(รายงานพิเศษ) ทางลงเขา"ศาลเจ้าพ่อปู่โทน" อุบัติเหตุบ่อยครั้ง-ตายนับพันเพราะแรงอาถรรพ์ หรือประมาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวคราวการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางลงเขาศาลเจ้าปู่โทน ทางหลวงหมายเลข 304 กม. 210+500 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี–ปักธงชัย เส้นทางตัดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเขาสูง สลับโค้ง คดเคี้ยวคล้ายตัว S หลายจุด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากต่อการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ซึ่งหากนับรวมแล้วไมน่าจะต่ำกว่า 1,000 รายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


และทุกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ผู้คนมักจะถูกพูดถึงอยู่เป็นประจำก็คือเรื่องราวความอาถรรพ์ของ “ศาลปู่โทน ”ศาลไม้โบราณที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่บริเวณทางลงเขาซึ่งคนในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือและเชื่อว่าคือสิ่งศักดิ์ ที่ปกปักรักษาเส้นทางแห่งนี้ แต่คนต่างถิ่นที่ไม่ชินทางกลับพาชีวิตทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทาง มาทิ้งไว้จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตให้เห็นในทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุกปี

ทั้งนี้ถนนหลวงหมายเลข 304 กม. 210+500 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี–ปักธงชัย เดิมที่เป็นเพียงถนนลูกรัง และได้ถูกปรับปรุงให้เป็นถนนคอนกรีตในช่วง 50-60 ปีก่อน สภาพถนนเป็นทางลาดลงเขา ที่มีทางโค้งมากถึง 12 จุดรวมระยะทางไม่ต่ำกว่า 6 กิโลเมตร แม้มองผิวเผินอาจดูไม่ลาดชัน แต่ความเป็นจริงนั้นถนนสายนี้มีความลาดชัน ซึ่งผู้ขับขี่ในพื้นที่รู้ดีว่าต้องเพิ่มความระมัดระวังในการห้ามล้ออยู่บ่อยครั้ง


แต่หากเป็นคนต่างถิ่นที่ไม่คุ้นชิน ล้วนประมาทกับภาพความสวยงามของทางลงเขาที่อยู่ตรงหน้าที่ไม่ต่างจากทัศนียภาพอันสวยงามในต่างประเทศ จนลืมที่จะระมัดระวังในการขับขี่เมื่อมารู้ตัวอีกทีก็ไม่สามารถควบคุมรถได้แล้ว โดยเฉพาะรถใหญ่ อย่างเช่นรถโดยสาร 2 ชั้นซึ่งที่ผ่านมามักเกิดอุบัติเหตุใหญ่คร่าชีวิตผู้โดยสารมาแล้วเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาลมในหม้อลมเบรกหมด จนไม่สามารถเปลี่ยนเกียร์ต่ำได้ และไม่สามารถเบรกหรือควบคุมรถได้ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุใหญ่อยู่บ่อยครั้ง


สำหรับประวัติของ “ศาลเจ้าพ่อปู่โทน” เริ่มขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อนตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ที่พูดต่อๆ กันมาว่า เกิดจากเรื่องราวของหนุ่มชาวนครราชสีมา ที่มีชื่อว่า นายโทน ยึดอาชีพค้าลาและได้ขนลาขึ้นรถบรรทุกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อไปค้าขายใน จ.ชลบุรี แต่เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณโค้งแห่งนี้รถสิบล้อของ นายโทน ได้ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต จากนั้นถนนสายนี้ก็มักจะมีอุบัติและมีผู้เสียชีวิตอยู่เป็นประจำจนทำเกิดเสียงล่ำลือเรื่องความอาถรรพ์ของถนนที่ต้องมี“ตัวตายตัวแทน” 

ชาวบ้านในพื้นที่รวมทั้งญาติของผู้เสียชีวิตรายอื่นๆ จึงมีแนวคิดในการตั้งศาลเพียงตา เพื่อเตือนใจผู้ใช้รถบริเวณดังกล่าวให้เพิ่มความระมัดระวัง และตั้งชื่อศาลแห่งนี้ว่า " ศาลเจ้าโทน" และกลายเป็น "ศาลเจ้าพ่อปู่โทน" ในปัจจุบัน จากการที่มีผู้นำสิ่งของมาเซ่นไหว้จากการได้โชคลาภ 

และยังมีความเชื่อกันว่าศาลดังกล่าวยังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกปักรักษาผู้เ้ดินทางให้เกิดความปลอดภัยจาก สภาพถนนซึ่งเป็นทางลาดชันและความโค้งคล้ายตัว S หลายจุด


ประกอบการเป็นถนนทางหลวงแผ่นดินขนาด 2 ช่องจราจร (ขาไป-กลับ) อีกทั้งบางช่วงแม้จะมีการขยายช่วงจราจรเป็น 4 ช่องแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมาก โดยเฉพาะในเขตชุมชนหรือทางแยกสำคัญที่ถือเป็นลักษณะทางกายภาพที่ท้าทายต่อการขับขี่ ยิ่งในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่นจากรถบรรทุกและรถโดยสารที่ใช้เส้นทางระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เหล่านี้ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่ที่ไร้วินัยในการดูแลสภาพรถ และไร้ซึ่งการเคารพต่อกฎจราจร ที่มีข้อกำหนดมากมายเพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้าย

แม้ กรมการขนส่งทางบก จะให้คำแนะนำเทคนิคการขับรถขึ้น-ลงเขาให้ปลอดภัย ด้วยการใช้เกียร์ต่ำเท่านั้น โดยเฉพาะรถที่มีการบรรทุกน้ำหนักมากๆ และขณะขับรถให้สังเกตป้ายเตือน ป้ายห้าม โดยเฉพาะการแซงในช่วงทางโค้ง ทางเลี้ยว จุดอับสายตา ทางลงเขาลาดชันใช้การแตะเบรกเป็นระยะ ห้ามเหยียบเบรกค้างไว้ อาจทำให้ลมเบรกหมด หรือผ้าเบรกไหม้

และห้ามใส่เกียร์ว่างลงเขาโดยเด็ดขาด รวมทั้งผู้ขับขี่จะต้องตรวจสอบความพร้อมของรถอยู่สม่ำเสมอ รวมทั้งผู้ขับขี่รถยนต์ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้พร้อม แต่ผู้ขับขี่หลายรายก็ยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะรถบัสโดยสารที่จะต้องลงเวลา ณ จุดพักรถ เพื่อพักทั้งรถและคนแต่สุดท้ายกลับถูกละเลยจนกลายเป็นอุบัติเหตุใหญ่ให้ ปู่โทน ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม


ล่าสุด อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยังกำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับท้องที่ที่ทำการขนส่ง และมาตรฐานบริการ ในการประกอบการขนส่งไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง โดยไม่ให้รถโดยสารไม่ประจำทางมาตรฐาน 4 (รถโดยสาร 2 ชั้น) เดินรถในเส้นทางที่มีความเสี่ยงในขณะให้บริการขนส่งผู้โดยสาร

รวมทั้งกำหนดเส้นทางห้ามการเดินรถในเส้นทางที่มีความเสี่ยง 7 เส้นทาง รวมไปถึงเส้นทางหลวงหมายเลข 304 สี่แยกกบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 208+000 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 213+000 เพื่อหวังลดจำนวนอุบัติเหตุและการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือตัวผู้ใช้รถ โดยเฉพาะรถบัสโดยสารที่มีชีวิตของผู้โดยสารเป็นเดิมพัน และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและมีวินัยเคารพกฏจราจรให้มากขึ้นจึงจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น