เชียงราย - เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำกก-อิง-โขง / นักวิชาการ ตัวแทนชาวแม่อาย เชียงใหม่-เชียงราย ร่วมเปิดเวทีถูกปัญหาสารหนูเหมืองทองเขตว้าแดงปนเปื้อนน้ำกก-น้ำสาย จนธุรกิจท่องเที่ยวตลอดลุ่มน้ำที่เคยคึกคักเสียหายยับเยินยันคนหาปลา จี้รัฐตั้งคณะทำงาน-เจรจาจีน-เมียนมา-ว้า
วันนี้ (22 เม.ย.) เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำ กก อิง โขง ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ขึ้นที่ห้องประชุมสายน้ำกก ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม CCF เชียงราย ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย โดยมีนักวิชาการและนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร่วมนำเสนอข้อมูล-แนวทางการแก้ไขปัญหา
หลังจากช่วงเดือน มี.ค. 2568 ชาวบ้านที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พบน้ำในแม่น้ำกกที่ไหลมาจากประเทศเมียนมาเข้าสู่ อ.แม่อาย ขุ่นมากกว่าปกติ กระทั่งกรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบพบมีสารหนูปนเปื้อนอยู่ที่ 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร และที่ อ.เมืองเชียงราย อยู่ที่ 0.012-0.013 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานความปลอดภัยคือต่ำกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร
ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตกรรมสังคม ม.แม่ฟ้าหลวง ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์น้ำขุ่น แผนที่แม่น้ำกกตั้งแต่ประเทศเมียนมาเข้ามาถึงไทย องค์กรความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา ที่เรียกว่าคณะกรรมการชายแดนท้องถิ่น ฯลฯ จึงเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคเอกชน ฯลฯ
และจัดตั้ง "ศูนย์ตรวจคุณภาพน้ำ" ขึ้นในพื้นที่เชียงราย จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงและเรียลไทม์ซึ่งจะมีความรวดเร็วและครอบคลุมกว่า เพราะพื้นที่มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งสนับสนุน คือ มฟล., มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย
นางจิรภัทร์ กันธิยาใจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านร่มไทย ต.ท่าตอน อ.แม่อาย กล่าวว่า เดิมแม่น้ำกกพื้นที่ อ.ท่าตอน จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนเดินทางไปเยือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฤดูร้อนและเทศกาลสงกรานต์ แต่ปีนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวเสียหายยับเยิน เพราะแทบไม่มีคนเที่ยวเลย แม้จะเป็นวันที่ 13-15 เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลก็ตาม ผู้คนหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปสัมผัสน้ำ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนหาปลา ฯลฯ ซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เต็มที่ก็ต้องมาพบเจอกับปัญหาเรื่องสารหนูอีก
ด้านนายสมเกียรติเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนเช่นกัน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกกทั้งที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ชียงราย ให้ทราบผลทุกๆ 30 วัน, สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา กลุ่มกองกำลังว้า เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำ ตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ทำเหมืองในรัฐฉาน, เปิดเจรจา 4 ฝ่าย คือ ไทย เมียนมา จีน และกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สัมปทานเหมืองเพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์
ต่อมานายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย เขต 1 พรรคประชาชน ได้เดินทางเข้าร่วมในเวทีนี้ด้วยและได้รับหนังสือจากฝ่ายต่างๆ พร้อมแจ้งว่าได้นำปัญหานี้เข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรแล้วและจะสอบถามรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไปด้วย