กาฬสินธุ์ - ชาวบ้านในตำบลลำพานปลูกผักชะอมหรือผักขา ตามพื้นที่สวน แปลงนา เป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ตัดยอดส่งขายทำเงินอย่างน้อยวันละ 500 บาท ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อบางรายรับเต็มๆ 10,000 บาท/วัน ถือเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ ปลูกครั้งเดียวเก็บขายได้นานกว่า 10 ปี ปัจจุบันขายอย่างต่ำมัดละ 10 บาท เปลี่ยนจากผักกลิ่นฉุนเป็นผักยอดนิยมราคาไม่มีตก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกชาว จ.กาฬสินธุ์ ช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝนที่เริ่มจะมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว ส่งผลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่เพาะปลูกตามแปลงเกษตรทั่วไป แตกกิ่งใบและเจริญเติบโตตามฤดูกาล เช่นเดียวกับ “ผักชะอม” หรือผักขา (ภาษาถิ่นอีสาน) ที่นิยมเพาะปลูกกันมากตามพื้นที่ที่เคยว่างเปล่า ที่สวน ที่กำลังแตกกอ ชูยอดอวบสีเขียวขจี ให้เจ้าของมาเด็ดยอดไปมัดขาย รับประทานเป็นผักสด หรือเครื่องเคียงประกอบอาหาร โดยเปลี่ยนมูลค่าในตัวเองจากยอดผักพื้นบ้านกลิ่นฉุนเป็นเงินตรา
นางทองม้วน กล่อมจิตร อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 9 บ้านท่าสีดา ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า ผักชะอม หรือผักขา เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของตำบลลำพาน รองจากการทำนาปลูกข้าว ปลูกกันมากที่บ้านดงเมือง บ้านท่าสีดา และบ้านท่าสินธุ์ สร้างรายได้เสริมสำหรับผู้ใช้พื้นที่ปลูกน้อย แต่เป็นอาชีพหลักสำหรับคนที่ใช้พื้นที่ปลูกเป็นบริเวณกว้างมากกว่า 1 งาน-1 ไร่ขึ้นไป ใช้ต้นกล้าปลูกครั้งเดียว แต่สามารถเก็บผลผลิตคือส่วนของยอดอ่อนรับประทานและเพื่อการค้าขายได้นานกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ยังทนฝน ทนแล้ง ไม่มีศัตรูพืชรบกวน มีรายได้ทุกวัน แรกๆ ตลาดจำหน่ายที่ตลาดเกษตร ตลาดสดทุ่งนาทอง ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ต่อมามีพ่อค้า แม่ค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ โดยนำส่งตลาดไท รังสิต และตลาดนัด ตลาดสดทั่วไป
นางทองม้วนเล่าอีกว่า สำหรับตนใช้พื้นที่สวนประมาณ 3 งาน ปลูกผักชะอมมาประมาณ 5 ปี มีรายได้เฉลี่ยวันละ 300-500 บาท เพราะทำตามแรงคนสูงอายุ ไม่ได้ใช้พื้นที่ปลูกมากเหมือนคนอื่น ขณะที่บางคนใช้พื้นที่ปลูก 5 ไร่ 10 ไร่ มีรายได้จากการเก็บยอดผักชะอมขายวันละนับ 10,000 บาททีเดียว
ทั้งนี้ การปลูกผักชะอมในพื้นที่ และมีการต่อยอดขยายผล ขยายพันธุ์ในพื้นที่ ต.ลำพานจนถึงปัจจุบันดังกล่าว เริ่มจากเจ้าหน้าที่เกษตรได้เข้ามาส่งเสริมพืชทางเลือกใหม่ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้เพิ่ม ที่ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวนาปี หรือข้าวนาปรังอย่างเดียว โดยเริ่มเข้ามาส่งเสริมครั้งแรกที่บ้านดงเมืองเมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา เมื่อเห็นว่าได้ผลและมีตลาดรองรับผลผลิต เกษตรกรให้ความสนใจก็เริ่มมีการขยายพื้นที่ แบ่งพื้นที่สวน พื้นที่นามาเป็นแปลงเพาะปลูกผักชะอม ทำให้พื้นที่ ต.ลำพานมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งปลูกผักชะอมหรือผักขาแหล่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสาน
“อย่างครอบครัวของป้าเคยทำนาปี ถึงหน้าแล้งทำนาปรัง ปลูกข้าวโพดและพืชผักสวนครัวบ้าง ระยะหลังต้นทุนทำนาสูงขึ้น และราคาขายข้าวเปลือกไม่แน่นอน ผลผลิตไม่คุ้มกับการลงทุนทั้งค่าปุ๋ย ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยวข้าว ประกอบกับมีอายุมากขึ้น เรี่ยวแรงทำนาลดลง จึงหันมาปลูกผักขาเป็นอาชีพเสริม ซื้อต้นกล้าผักชะอมมาต้นละ 10 บาท ปลูกง่าย ดูแลง่าย ไม่เปลืองน้ำ ไม่เปลืองปุ๋ย อายุ 6 เดือนเริ่มเก็บผลผลิตคือยอดอ่อนขาย” นางทองม้วนกล่าว และบอกอีกว่า
การเก็บเกี่ยวก็ไม่เหนื่อย เก็บยอดตอนเช้าหรือเก็บได้ตลอดทั้งวันตามออเดอร์ หรือตามที่สะดวก ถือเป็นการออกกำลังไปในตัว และรู้สึกเพลิดเพลินไปด้วยซ้ำ เพราะทุกยอดคือเงินสิบบาทเงินร้อยบาททั้งนั้น โดยจะขายเป็นกำหรือมัดละ 10 บาท เก็บขายได้ทุกวัน หากไม่ขาดน้ำ บำรุงดีเก็บยอดขายได้ทุกฤดูกาลตลอดปี
สำหรับผักชะอม หรือภาษาอีสานเรียก “ผักขา” สร้างมูลค่าได้มากกว่าคำว่าผักสดหรือผักพื้นบ้าน เพราะนอกจากจะนิยมเด็ดส่วนของยอดมารับประทานกันแบบสดๆ กินแนมกับอาหารประเภทส้มตำ ลาบ ก้อย ป่น ขนมจีน หรือเป็นเครื่องเคียงประกอบอาหาร ประเภทไข่เจียว แกงส้มปลา แกงใส่หน่อไม้ หรือแกงไข่มดแดง ก็ให้รสชาติอร่อย
แม้ผักชะอมจะมีคุณลักษณะส่วนตัวมีกลิ่นฉุน แต่กลับให้รสชาติที่ออกเปรี้ยว มัน อร่อย บางคนที่ชื่นชอบเปิบอาหารที่มีผักชะอมเป็นส่วนประกอบ ถึงกับยกนิ้วให้ว่าเป็นสุดยอดผักพื้นบ้านที่ถูกปาก ถูกคอ ถูกใจ แถมยังสร้างอาชีพและรายได้มูลค่ารวมอย่างน่าทึ่ง ไม่ต่ำกว่าวันละนับพันนับหมื่นบาทกันเลยทีเดียว