เชียงใหม่ - ดรามาด่ายับ แม้จะสร้างสถิติโลกสำเร็จ ฟ้อนเล็บมากที่สุด จากเป้า 1.9 หมื่น เหลือ 7 พันกว่าคน ระดมช่างฟ้อน 3 จังหวัด ซ้อมนานนับเดือน ถึงวันงานไม่มีแม้แต่น้ำดื่มหรืออาหาร จิตอาสาห่อข้าวมากินเองก็ยอม แต่ถึงเวลาช่างฟ้อนตั้งแต่ผู้สูงอายุยันเด็ก 2-3 ขวบหน้าเหวอ ถูกไล่ออกจากงานไม่ให้ฟ้อน สาเหตุเพราะไม่ได้ซื้อ "ผ้าซิ่น 729" ของผู้จัดงานในราคาผืนละ 500 บาท อ้างบอกกฎของกินเนสส์บุ๊กต้องชุดเหมือนกัน แต่ไม่มีการแจ้งให้ชัดเจน ออแกไนซ์จัดงานมั่วซั่ว วุ่นวายไปทั้งเมือง ด่ากันยับเยิน ถามย้อนจัดทำลายสถิติเพื่ออะไร เป็นธุรกิจใครได้ประโยชน์ ไม่คำนึงถึงความงดงามของวัฒนธรรมที่ถูกต้อง แถมใช้ผ้าทอโรงงานแทนผ้าทอพื้นเมือง ท่าฟ้อนถูกปรับเปลี่ยนจนคณะฟ้อนและแม่ครูฟ้อนถอนตัวกันเพียบ
ช่วงค่ำเมื่อวานนี้ได้มีการสร้างสถิติโลกกับกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ดขึ้นสำเร็จที่จังหวัดเชียงใหม่กับการฟ้อนเล็บแบบล้านนา ตามแบบอัตลักษณ์เจ้าหลวงพระราชชายาเจ้าดารารัศมีแห่งคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 729 ปีแห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในกิจกรรม โดยจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์กรเครือข่ายทั่วทั้งจังหวัด จัดขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ประชาสัมพันธ์ไว้ล่วงหน้าว่ามีช่างฟ้อนกว่า 19,000 คน ที่จะเข้าร่วมสร้างสถิติ แต่พอผลสรุปจากคณะกรรมการพบว่าแม้จะสร้างสถิติโลกได้ แต่ก็มีช่างฟ้อนร่วมฟ้อนทั้งสิ้น 7,218 คน ซึ่งหายไปกว่า 12,000 คน พอหลังเสร็จงานก็เกิดดรามาขึ้นมาทันที ทำให้โลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานฟ้อน แม่ครูฟ้อน ช่างฟ้อนจากคณะต่างๆ ทั้ง 3 จังหวัดที่ระดมกันมาก่อนหน้านี้นานหลายเดือน ทั้งช่างฟ้อนจากเชียงใหม่ ลำพูน และจังหวัดลำปาง
เนื่องจากพบว่าการจัดงานยิ่งใหญ่ทำสถิติโลก แต่กลับพบว่าออแกไนซ์จัดงานได้แย่มาก ขาดการประสานงาน ทุกอย่างมั่วซั่วไปหมด ตั้งแต่เรื่องขอข้อมูลต่างๆ ที่ต้องได้รับรู้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วงของการจัดงาน การดูแลอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นการขอเชิญเข้าร่วมด้วยจิตอาสา ซึ่งช่างฟ้อนที่มาร่วมงานก็มาด้วยความเต็มใจที่จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ต้องควักเงินส่วนตัวทั้งค่าชุด แต่งหน้า ค่าเดินทาง อาหารการกิน วันงานก็ไม่มีการเตรียมไว้ให้ แม้แต่น้ำดื่ม ชาวบ้านบางคนต้องพกข้าวห่อมากินกันเองแต่ก็ยอม
แต่ปรากฏว่าเมื่อจะถึงเวลาฟ้อนจริง ทั้งๆ ที่เตรียมตัวมานานหลายเดือน ร่วมซ้อมมากันหลายต่อหลายครั้ง แต่งหน้าสวมชุดช่างฟ้อนสวยงามแต่เช้ามืด เรียกรวมตัวกันตั้งแต่เที่ยง กว่าจะถึงเวลาฟ้อนก็ 17.00 น. พอเรียกให้ลงมาตั้งแถวช่างฟ้อน ปรากฏว่ามีช่างฟ้อนจากหลายคณะถูกไล่ให้ออกจากแถว ไม่ให้ร่วมฟ้อนกับการสร้างสถิติโลก โดยผู้ประสานงานในแต่ละจุดแจ้งว่าเพราะชุดไม่เหมือนกัน อ้างว่าเจ้าหน้าที่กินเนสส์บุ๊กมีกฎที่เคร่งครัด ต้องให้ชุดเหมือนกัน สีเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ผู้จัดนำผ้าซิ่นมาจำหน่าย ชื่อว่า "ผ้าซิ่น 729" ที่เป็นผ้าทอจากโรงงาน ลวดลายไม่ได้ตรงตามแบบผ้าซิ่นของชาวล้านนา ในราคาผืนละ 500 บาท เมื่อผ้าซิ่นไม่ตรงตามแบบ จึงถูกเชิญออกไปจากแถวไม่ให้ร่วมฟ้อน
ทำให้ดรามาเกิดขึ้นทันที ช่างฟ้อนคณะต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้พากันสะท้อนเสียงของการจัดงานว่าประสานงานกันแย่มาก ตอนจะจัดขอความร่วมมืออย่างเดียว ไม่ได้ให้การสนับสนุนอะไรเลย ไม่แม้แต่ค่าใช้จ่าย แถมเพิ่งมารู้ว่าต้องซื้อซิ่น 729 มีราคาผืนละ 500 บาท ตอนจะเข้าร่วมฟ้อน ก่อนหน้านี้ทำไมไม่แจ้งกฎกติกาที่ชัดเจนมาก่อน จะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าจะมาร่วมงานครั้งนี้หรือไม่ แต่ปล่อยให้ล่วงเลยมาจนถึงวินาทีสุดท้าย ต่างก็เสียความรู้สึกกับผู้จัดงาน และออแกไนซ์ผู้จัดงานครั้งนี้
โดยเรื่องของผ้าซิ่น คณะฟ้อนจากที่ต่างๆ จะมีชุดฟ้อนพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ความสวยงามด้วยผ้าทอพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่จะเป็นคนละสีสันเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ผ้าที่ผู้จัดบังคับให้ใช้นั้นเป็นผ้าทอโรงงาน ขาดความสวยงามและถูกต้องตามแบบวัฒนธรรมประเพณีล้านนา สะท้อนถึงความไม่รู้ ไม่พร้อมของผู้จัด และที่สำคัญ เอาเหตุผลอะไรมาเป็นกรอบในการกำหนดชุดฟ้อน ทั้งๆ ที่ความสำคัญคืออยู่ที่ความสวยงามท่วงท่าของการฟ้อนที่สวยงามพร้อมเพรียงกันมากกว่า
ในส่วนท่าฟ้อนก็พบว่ามีแม่ครูช่างฟ้อนหลายคนถอนตัว เนื่องจากพบว่าท่าฟ้อนที่อ้างว่าการฟ้อนเล็บแบบล้านนาตามแบบอัตลักษณ์เจ้าหลวงพระราชชายาเจ้าดารารัศมีแห่งคุ้มเจ้าหลวงเชียงใหม่นั้น ก็ไม่ได้ถูกต้องตามแบบต้นฉบับจริง กลายเป็นการดัดแปลงโดยผิดเพี้ยนไปจากดั้งเดิมด้วย
นอกจากนี้แล้วยังมีเสียงสะท้อนหลายเรื่องตามมา ทั้งความไม่พร้อมของการจัดงานขนาดใหญ่ ใช้พื้นที่ทั้งเขตตัวเมือง เสียงดนตรี เสียงจากการประสานงานจากส่วนกลางไม่พร้อม บางจุดไม่ได้ยินเสียงดนตรี บางจุดไม่มีเจ้าหน้าที่ประสานงานที่เพียงพอ เรื่องของการปิดถนน พอพื้นที่จัดงานมันกว้าง ใช้พื้นที่ถนนรอบคูเมืองด้านในทั้ง 4 ด้าน ถนนใจกลางเมืองหลายสาย และพื้นที่จัดงานหลักที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ปิดถนนทั่วเมืองจัดงาน การจราจรโกลาหลไปทั่วทั้งจังหวัดนานกว่า 1 ชั่วโมง ได้รับคำสาปแช่งจากผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างหนัก
ทั้งนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งได้สรุปดรามาครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า"ตามความเข้าใจของผมที่เสพข้อมูลตามสื่อต่างๆ (เข้าใจส่วนตัวถึงเหตุที่เกิดขึ้นนะครับ)
1. ตอนที่ PR ว่าจะมีงานฟ้อน โดยสื่อ PR บอกว่า เป็นการฟ้อนเล็บอัตลักษณ์เชียงใหม่ รูปแบบคุ้มหลวงพระราชชายา เจ้าดารารัศมี 20,000 คน
ขอเพิ่มเติมข้อมูลข้อที่ 1 ฟ้อนเล็บ ในส่วนคุ้มหลวง สำนักนี้คือ ลูกสาวเจ้าแก้วนวรัฐ คือ เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ และ หม่อมแส หม่อมของเจ้าหลวง พร้อมครูจากกรุงเทพฯ มาแลกเปลี่ยนฝึกหัดกัน
ในส่วนของฟ้อนเล็บ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ก็แยกออกมาเป็นอีกสำนัก คือ สำนักวังเจ้าดารา มีครูนวลฉวี ครูสมพันธ์ เจ้าเครือแก้ว และเจ้านายคนอื่นๆ ฝึกรำจากพระราชชายา
หากจะประชาสัมพันธ์ฟ้อนเล็บควรจะเลือกอัตลักษณ์สำนักใดสำนักหนึ่ง อาทิ ฟ้อนเล็บพระราชชายา ไม่ควรนำคุ้มหลวง กับเจ้าดารารัศมีมารวมกัน ซึ่งคุ้มหลวงเป็นสถานที่ของเจ้าผู้ครองนครไม่นิยมมาใช้กับ พระราชชายา เพราะพระองค์ท่านมีเขตนิเวศน์เป็น ตำหนัก หรือวัง เช่น วังเจดีย์กิ่ว วังแม่ริม หรือตำหนักดาราภิรมย์ หรือวังเสด็จเจ้า เป็นต้น ข้อมูลจะได้ไม่สับสน ถือว่า ช่วยเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ได้ไม่ผิดเพี้ยน
2. ทวงท่ารำ หาก PR ไปว่าเป็นอัตลักษณ์รูปแบบ ข้อที่ 1 ก็ไม่ควรเปลี่ยน หรือปรับกระบวนท่าขึ้นมาใหม่ มีชื่อใหม่ ซึ่งละทิ้งของเดิมที่สำนักคุ้มหลวง หรือวังเจ้าดารา ท่านสืบวิชาถ่ายทอดกันมา
3. การแต่งกาย เห็นเฟซฯ คนในแวดวงวัฒนธรรมในเชียงใหม่ท้วงติงมา ถึงการนัดกันสวมเครื่องแต่งกายที่ ทางผู้จัดกำหนด สีผ้าซิ่น สไบ เสื้อ หรือการสั่งซื้อผ้าซิ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม และผู้เข้าร่วมต้องสวมใส่ตามระเบียบที่กำหนด และต้องสวมใส่ผ้าซิ่นโรงงานอุตสาหกรรมตามสีและรูปแบบที่กำหนดเท่านั้น ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ ถึงแม้จะเป็นผ้าซิ่นทอมือสวยงามสอดคล้องกับสไบ และสีเสื้อก็ตาม ...?
4. จากรูปภาพงาน มีผู้เข้าร่วมฟ้อนหลากหลายสารทิศ ก็มีการสวมผ้าซิ่นสีต่างๆ อาทิ สีชมพู มาเป็นทีม บ้างก็ ยืดหยุ่นได้ฟ้อน บ้างก็มีการสื่อสารกันไม่ให้ฟ้อน จึงทำให้มองว่า เอ๊ะ! สรุปการจัดงาน คนที่สวมผ้าซิ่นแตกต่างได้ฟ้อนหรือไม่ ในส่วนตรงนี้ก็ยังรอความกระจ่างจากการจัดงาน
5. การจัดงานมีการแจกอาหาร น้ำดื่มให้ผู้เข้าร่วมเพียงพอที่มาฟ้อนหรือไม่ แต่มองเห็นความตั้งใจของเด็กๆ พี่ป้าน้าอา คุณแม่ คุณยาย บางท่านก็ห่อมาเอง และรับอาหารที่แจกบ้าง เป็นไข่คั่ว หรือไข่ทอด ทำให้มองว่า ไม่ทั่วถึง
6. การจัดเครื่องเสียง หรือดนตรี ที่ใช้ฟ้อนไม่ทั่วถึง หรือครอบคลุมบริเวณพื้นที่ที่มีช่างฟ้อน ทำให้ฟ้อนไม่พร้อมกัน หรือนับจังหวะไม่ทัน หรือยังไง ไม่แน่ชัดครับ
7. ด้วยประเด็นบางข้อที่กล่าวมาข้างต้น "ทั้งนี้กลายเป็นการตั้งคำถามออกมาอย่างชัดเจนว่าเหตุผลการสร้างสถิติโลกครั้งนี้ทำไปเพื่ออะไร และเพื่อใคร มีเรื่องของผลประโยชน์ธุจกิจเข้ามาแอบแฝงหรือไม่ การจัดงานครั้งนี้เพื่อมุ่งเอาแต่สร้างสถิติ โดยไม่คำนึงถึงผู้คน ความสวยงามและถูกต้องตามแบบศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ พอเกิดดรามาขึ้นตอนนี้กลายเป็นว่าทุกอย่างถูกโยนไปให้ผู้จัดหลักคือ "สมาคมสตรีนครเชียงใหม่ และออแกไนซ์ผู้จัดงาน"