กาญจนบุรี - ผู้ตรวจฯเขตสุขภาพที่ 5 เปิดข้อมูล อบจ.กาญจน์ ค้างจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้รพ.แม่ข่าย 152 ล้านบาท ห่วงปีงบฯ68 อาจเกิดปัญหาค้างจ่ายใหม่ ด้านนายกฯ อบจ.เผย อยู่ในระหว่างการเบิกจ่าย รับถ่ายโอน สอน./รพ.สต. ทั้งจังหวัดมาบริหารเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 เม.ย.) เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข ออกมาระบุว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เผย ปี งบฯ 2566 อบจ.กาญจนบุรี ซึ่งรับถ่ายโอน สอน./รพ.สต. ทั้งจังหวัด และขอบริหารงบเหมาจ่ายรายหัวเอง ค้างจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลแม่ข่าย 152 ล้านบาท โดยมีโรงพยาบาล 4 แห่งได้รับเงินไม่ถึงร้อยละ 1 น้อยสุดจ่ายแค่ 1,275 บาท ล่าสุดมี 3 โรงพยาบาลเงินบำรุงติดลบแล้ว ห่วงปีงบฯ 2568 อาจเกิดปัญหาค้างจ่ายใหม่ กระทบการดูแลสุขภาพชาวกาญจนบุรี ขอให้ อบจ.กาญจนบุรี เร่งทบทวนการบริหารจัดการงบประมาณ
จากการเข้าไปตรวจสอบเนื้อหาข่าว ระบุว่า ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กาญจนบุรี ได้รับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจากกระทรวงสาธารณสุขครบทั้งจังหวัด รวม 144 แห่ง และในปีงบประมาณ 2566 ได้ขอเป็นผู้บริหารงบเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนบริการผู้ป่วยนอก (OP) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ทั้งหมดเอง
ส่งผลให้ อบจ.กาญจนบุรี ต้องชำระค่าบริการทางการแพทย์กรณีประชาชนไปเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแม่ข่าย ของปีงบประมาณ 2566 รวม 228.46 ล้านบาท แต่จ่ายมาเพียง 76.48 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.48 ยังค้างจ่ายอีก 152 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา มียอดเรียกเก็บสูงสุด 75.02 ล้านบาท ได้รับเงินเพียง 8.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.89 เท่านั้น และมีโรงพยาบาล 4 แห่ง ที่ได้รับเงินไม่ถึงร้อยละ 1 คือ โรงพยาบาลไทรโยค ยอดเรียกเก็บ 5.84 ล้านบาท ได้รับเงิน 4,081 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.07
โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ยอดเรียกเก็บ 28.82 ล้านบาท ได้รับเงิน 12,106 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.04, โรงพยาบาลสังขละบุรี ยอดเรียกเก็บ 2.1 ล้านบาท ได้รับเงิน 1,275 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.06 และโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ยอดเรียกเก็บ 15.72 ล้านบาท ได้รับเงิน 24,699 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.16
สำหรับปีงบประมาณ 2567 โรงพยาบาลแม่ข่ายเป็นผู้บริหารจัดการงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวแบบเหมาจ่าย จึงไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์จาก อบจ.กาญจนบุรี แต่ในปีงบประมาณ 2568 นี้ อบจ.กาญจนบุรี ขอเป็นผู้บริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัวฯ อีกครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาค้างจ่ายหนี้เช่นเดียวกับปีงบประมาณ 2566
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการสรุปข้อมูลจาก สปสช. เพื่อเรียกเก็บเป็นรายไตรมาสต่อไป ส่งผลให้โรงพยาบาลในจังหวัดกาญจนบุรี หลายแห่งเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยมีโรงพยาบาลแม่ข่าย 3 แห่ง ที่มีสถานะเงินบำรุงคงเหลือสุทธิติดลบ ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ติดลบ 34.51 ล้านบาท โรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์พนมทวน ติดลบ 7.86 ล้านบาท และโรงพยาบาลหนองปรือ ติดลบ 5.7 ล้านบาท ทำให้กระทบต่อการจ่ายหนี้ค่ายา ค่าวัสดุทางการแพทย์ และค่าตอบแทนบุคลากรของโรงพยาบาล
ทั้งนี้ อบจ.กาญจนบุรีแจ้งว่าจะทยอยจ่ายเป็นรายอำเภอ แต่ไม่ระบุว่าจะจ่ายครบเมื่อไร จึงขอให้ อบจ.กาญจนบุรีเร่งทบทวนกระบวนการบริหารจัดการด้านงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจัดบริการประชาชนจังหวัดกาญจนบุรีของโรงพยาบาลในพื้นที่
จากกรณีข้างต้น นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี ได้มีการวางแผนกระบวนการตามจ่ายตามมติคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ซึ่งได้ดำเนินการตามกระบวนการตั้งแต่การปรับแผนการใช้จ่ายเงินบำรุงฯ ของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ในสังกัด
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของการตามจ่าย รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ก็ได้ประสานเป็นการภายในกับสำนักงานสาธารณสุข( สสจ.)กาญจนบุรี เพื่อให้การตามจ่ายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในช่วงถ่ายโอนแรกๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังไม่ได้โอนงบประมาณ ในส่วนของเงิน OP/PP ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.)ก็ได้มีมติรับงบประมาณ 100% ทำให้ รพ. แม่ข่าย บางแห่งไม่ได้สนับสนุนทั้งเรื่องยา เวชภัณฑ์ รวมถึงบุคลากร เช่น แพทย์ มาออกให้ รพ.สต. ทำให้ รพ.สต. ต้องดำเนินการจัดซื้อยา และเวชภัณฑ์เอง ซึ่งรวมไปถึงยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย การโอนงบประมาณในการตามจ่าย รวมถึงการจัดซื้อยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ นั้น จะต้องให้ รพ.สต. บริหารในการจัดซื้อทั้งหมด เนื่องจาก สปสช.โอนตรงไปที่ รพ.สต.
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ก็ได้มีการสนับสนุนในส่วนของงบพัฒนาตามขนาด รพ.สต. S M L เมื่อ อบจ.ได้รับงบประมาณแล้ว ก็ต้องโอนต่อไปที่ รพ.สต. ทั้งหมด จะไม่มีการกันเงินไว้เพื่อทำการใดๆ ตามระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ อบจ.ก็สามารถสนับสนุนงบประมาณให้กับ รพ.สต.ได้ โดยต้องตั้งงบกลางในข้อบัญญัติ ซึ่ง อบจ.กาญจนบุรี ก็ได้ตั้งงบกลางไว้เช่นกัน
ซึ่ง อบจ. ก็ได้อนุมัติฎีกาการตามจ่าย ของทุก รพ.สต. ในทุกอำเภอเรียบร้อยแล้ว ก็จะอยู่ในกระบวนการเบิกจ่าย ทั้งนี้ รพ.สต. ที่ดำเนินการเบิกจ่ายแล้ว คือ 1. อำเภอเมืองฯ 2. อำเภอเลาขวัญ 3. อำเภอทองผาภูมิ 4. อำเภอศรีสวัสดิ์ 5. อำเภอหนองปรือ 6. อำเภอห้วยกระเจา อำเภออื่นๆ ก็จะอยู่ในกระบวนการเบิกจ่ายในการตามจ่าย เช่นกัน