xs
xsm
sm
md
lg

ฟังเสียงคนเมืองกาญจน์ หลังพม่าเตรียมสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 110 MW” ที่ทวาย ห่างเมืองกาญน์เพียง 132 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - จับตา! พม่า เตรียมสร้าง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 110 MW” ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นความร่วมมือระหว่างพม่าและรัสเซีย อยู่จากห่างเมืองกาญน์เพียง 132 กม. ขณะที่คนในพื้นที่เสียงแตกมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

 ความพยายามในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย ครั้งแรกมีขึ้นในปี 2509 เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อรัฐบาล เพื่อศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ณ อ่าวไผ่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ก็เลื่อนโครงการไปไม่มีกำหนดเพราะประชาชนคัดค้าน หลังจากนั้น กฟผ.ได้มีการความพยายามในการก่อสร้างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า พล.ต.ส่อมินทูน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พม่า เปิดเผยว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะถูกใช้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างพม่าและรัสเซีย และเป็น 1 ใน 10 ข้อตกลงที่พม่าและรัสเซียได้มีการลงนามกันระหว่างการเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC ซึ่งได้มีการพบและเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

โดย พล.ต.ส่อมินทูน บอกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นจุดสำคัญประการแรกของรัสเซีย ในการลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งรัสเซียให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภาคใต้ของพม่า ใกล้กับช่องแคบมะละกา สถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อยู่ริมชายหาดในเขตนะบูแล จังหวัดทวาย ภาคตะนาวศรี ห่างจากตัวเมืองทวายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 17 ไมล์ หรือประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พม่า ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 132 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 300 กิโลเมตร ห่างจากโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดของไทย 450 กิโลเมตร

นายประจักษ์ บัวซ้อน เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมกาญจนบุรี และรองประธานบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด(มหาชน)
จากกรณีดังกล่าวทำให้ชาวกาญจนบุรีหลายภาคส่วน ออกมาแสดงความคิดเห็นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยนายประจักษ์ บัวซ้อน เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมกาญจนบุรี และรองประธานบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด(มหาชน)ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน เพื่อการส่งออกรายใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่า ต้องยอมรับว่าการผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ หรือที่เรียกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในโลก และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงรองจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ลม และโซล่าเซลล์

ซึ่งในความเป็นจริง เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าหลักๆของประเทศไทย มาจากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้ง 2 ตัว เริ่มลดลงและมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงเห็นว่าต่อไปคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปัจจุบัน มีความทันสมัย และปลอดภัยสูงมาก

สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี น่าจะได้ประโยชน์ในหลายด้านมากกว่าคือ 1.มีโอกาสซื้อไฟฟ้าราคาถูกกว่าปัจจุบัน เนื่องจากก๊าซในพื้นที่จะลดลงเรื่อยๆ 2.มีความมั่นคงทางพลังงานด้านไฟฟ้าในภูมิภาค มากขึ้น และ 3.มีโอกาสข้ามไปลงทุนหรือเป็นระเบียงเศรษฐกิจ ที่สำคัญเพิ่มได้ง่ายขึ้น เพราะไฟฟ้า เป็นปัจจัยหลักที่ขาดไม่ได้ อย่างไรก็ดี ก็มีความจำเป็นที่จะต้องจับตา และร่วมกันเฝ้าระวังและตรวจสอบ ให้ทางพม่าและรัสเซีย เลือกนำเทคโนโลยี ที่ทันสมัยและปลอดภัยมาใช้

นายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี
ด้านนายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ ประธานหอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองไม่ได้ศึกษาด้านนิวเคลียร์ และ ไม่มีความรู้ ด้านนิวเคลียร์ สักเท่าไหร่ รู้เพียงว่าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่ง ที่มีการพัฒนาเพื่อใช้งานด้านสันติเช่น เป็นสารตั้งต้นผลิตพลังงานไฟฟ้ามานานกว่า 50 ปี หรือมากกว่านั้น การพัฒนาโรงงาน ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาจนจนถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านการจัดการสร้างโรงงานหรือระบบต่างๆได้ก้าวหน้าไปมาก

ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าจากโรงงานนิวเคลียร์ ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในการพิจารณาของนานาประเทศ ที่จะยังคงพัฒนาต่อเนื่องและใช้ต่อไป เพราะเป็นพลังงานสะอาดราคาถูกที่สุด แต่ก็แฝงอันตรายมากที่สุดเช่นกัน จากประเด็นที่ทางรัฐบาลเมียนมา มีโครงการจะสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลเมียนมาอยากจะสร้าง หรือมี พลังงานไฟฟ้าราคาถูกนี้ แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ด้วยหลายเหตุผล คือ 1.โครงการนี้ตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อนแผ่นดินไหวซึ่งอาจจะซ้ำรอย ความเสียหายแบบโรงงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะประเทศญี่ปุ่น 2.รัฐบาลทหารของเมียนมามีการคอรัปชั่นสูงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อาจจะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยไม่เพียงพอมีความเสี่ยงในอนาคต


3.เมืองทวาย เป็นเขตภาคใต้ของประเทศเมียนมา อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงและเป็นเขตที่รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยได้อย่างเบ็ดเสร็จยังคงมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่ม การก่อวินาศกรรมอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 4.ทั้งนี้เรายังไม่ทราบความสามารถและความรับผิดชอบของบุคลากร ที่ควบคุมโรงงานพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ซึ่งต้องใช้ความรับผิดชอบอย่างสูงจึงเป็นความเสี่ยงอีกชนิดหนึ่ง และ 5. โครงการนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงของไทย เพียง 300- 400 กิโลเมตร จึงมีความเสี่ยงสูงที่ไทยจะได้รับผลกระทบหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ทั้งนี้ตนเองมีข้อเสนอแนะรัฐบาลเมียนมา ควรกำหนดจุดการสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ในทะเล ซึ่งอาจจะเป็นเกาะสักแห่งหนึ่งในอ่าวพม่า แล้วส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเมืองหลวง ซึ่งมีความต้องการใช้มากที่สุด แล้วค่อยกระจายไปทั่วเขตปกครองของรัฐบาล เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องการใช้น้ำ ในการจัดการควบคุมการปล่อยพลังงานนิวเคลียร์จากแท่งปฏิกรณ์ อีกทั้งต้องการใช้น้ำจำนวนมากในการควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ ตลอดจนการป้องกันภัยพิบัติก็จะทำได้ง่ายกว่าปลอดภัยกว่าถ้าสร้างในทะเล

“การสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่จังหวัดทวาย มีความเสี่ยงอย่างมากต่อประเทศไทย และรัฐบาลไทยควรจะประสาน ให้ความร่วมมือโดยการให้ข้อมูล ที่เหมาะสมต่อประเทศเมียนมาและความปลอดภัยของประเทศไทย”


ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า แม้จุดที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนสกาย ซึ่งเพิ่งมีการขยับจนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แต่ก็อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากรอยเลื่อนสกายได้ นอกจากนี้แถบนั้นยังอาจมีการเคลื่อนของแผ่นดินเองได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว

อีกทั้งบริเวณเมืองทวายยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากยังมีการสู้รบ ซึ่งหากมีกำลังทหารเมียนมา กับกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู หากมีการสู้รบหรือมีแผ่นดินไหว จะส่งผลให้มีการรั่วไหลหรือระเบิดที่ส่งผลมาถึงประเทศไทยจนถึงกรุงเทพมหานคร เนื่องจากห่างจากทวายเพียง 300 กิโลเมตร เท่านั้น


ด้าน ดร.วรสุดา สุขารมณ์ หรือ ดร.จุ๊บ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของเมียนมา ว่าเขามีแผนตั้งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเขตชายแดนอยู่ติดกับด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ถ้ามองถึงพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีข้อดี คือ เป็นพลังงานที่สร้างมลภาวะต่ำ เมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่น ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด และการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนที่ถูกกว่า โรงไฟฟ้าชนิดอื่น ๆ และไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังเป็นพลังงานที่สร้างผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องและคาดคะเนได้ง่ายกว่า ต่างจากพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

แต่พลังงานนิวเคลียร์ ถึงแม้ว่าจะมีข้อดีให้เห็น แต่ก็ยังคงมีข้อเสียพ่วงมาด้วยอย่างแน่นอน คือ เรื่องขยะกัมมันตรังสี ซึ่งการผลิตพลังงานนิวเคลียร์จะไม่ปล่อยมลพิษใด ๆ ออกมาก็ตาม แต่การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ก็ก่อให้เกิดขยะกัมมันตรังสี ต้องมีการจัดเก็บอย่างปลอดภัยเพื่อไม่ให้ก่อเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ คือเรื่องของมาตรฐานและมาตรการความปลอดภัยตั้งแต่เริ่มต้นสร้างจนกระทั่งเกิดขึ้นมาเป็นโรงงานไฟฟ้า

เราในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการก่อสร้าง ประมาณร้อยกว่ากิโลเมตร ต้องขอติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือ มาตรฐาน และมาตรการต่าง ๆ ในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง โดยต้องไม่วิตกกังวลจนมากเกินไป แต่ให้คำนึงถึงหลักความปลอดภัยเป็นสำคัญ ถ้าเกิดกรณีอุบัติเหตุขึ้น แน่นอนว่าประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบตามมา

รัฐบาลไทยต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชน ในเรื่องของความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การจัดการกับซากกัมมันตรังสี และที่สำคัญคือ อันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการสื่อสารเรื่องมาตรฐานและการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนของเรา


ขณะเดียวกันเสียงส่วนใหญ่ภาพรวมของจังหวัดกาญจนบุรี มีมุมมองว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมียนมาและรัสเซีย โดยใช้เทคโนโลยีจากบริษัท Rosatom ของรัสเซีย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทยและมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้

การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าและการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทวายยังอยู่ใกล้ชายแดนไทย โดยห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 300 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพียง 132 กิโลเมตร ทำให้พื้นที่นี้มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน


ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดน รู้สึกดีใจ โดยคาดหวังว่า โครงการนี้อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญทำให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันจ่ายค่าไฟอยู่ที่ 14 บาท/หน่วย ซึ่งแพงมาก ส่วนความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมชาวบ้านไม่ได้กังวลมากนัก เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว มีเพียงชาวบ้านบางกลุ่มที่มีการศึกษาและสนใจเรื่องดังกล่าว ยังรู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ คือ กระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ของสังคม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยไปในทิศทางที่ชัดเจน และขาดการต่อเนื่อง จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ศึกษาอย่างจริงจังอีกครั้ง และสุดท้ายที่จะทำให้ต้องคิดหนักกันอีกครั้ง จากเหตุแผ่นดินไหว ที่เมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เกิดความสูญเสียอย่างมาก..


กำลังโหลดความคิดเห็น