xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป)Soft power เมืองเลยแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ถวายพระพุทธเจ้าประเพณีเก่าแก่ 474 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลย - ประเดิมวันพระแรกไปแล้ว 14 เม.ย. งานแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาช่วงวันขึ้นปีใหม่ไทยของชาวบ้านแสงภา อ.นาแห้ว ที่สืบทอดความศรัทธาจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 474 ปี เชื่อเป็นมงคลแก่ชีวิตจะช่วยให้อยู่ดีมีสุข ถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์ด้านประเพณีท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นมากของ  จ.เลย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ำคืนที่ผ่านมา (14 เม.ย.) ที่วัดศรีโพธิ์ชัย ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย มีการจัดงานแห่ต้นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประจำปี 2568 ถือเป็นงานประเพณีเก่าแก่ของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 473 ปี โดยมีนายชัยพจน์ จรูญพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน

นายพรชัย เพ็ญสุต นายอำเภอนาแห้ว เปิดเผยว่าประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ ตำบลแสงภา เริ่มมาจากความศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาของชาวบ้านแสงภา ที่ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น จนได้กลายเป็นประเพณีแห่ต้นดอกไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การแห่ต้นดอกไม้เริ่มแรกตั้งแต่การก่อสร้างวัดศรีโพธิ์ชัย ที่มีอายุมากว่า 473 ปี ซึ่งเชื่อกันว่าการได้แห่ต้นดอกไม้ถือว่าเป็นสิริมงคลของชีวิต ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล


ประเพณีแห่ต้นดอกไม้มีความเชื่อว่าการทำต้นดอกไม้มาเป็นพุทธบูชาในวันสงกรานต์ ที่ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น เป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภาจะมีลักษณะเด่นกว่าทุกวัด คือมีขนาดใหญ่และสูง มีความกว้าง 3.50 เมตร สูง 15-16 เมตร

ส่วนการทำต้นดอกไม้ จะต้องให้แล้วเสร็จภายในวันเดียว เริ่มจากตอนเช้ามืด ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายจะร่วมกันไปตัดไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามหัวไร่ปลายนา หรือบนภูเขา และนำกลับมาในหมู่บ้าน นำมาตัดมาผูกเป็นโครง อุปกรณ์ที่ใช้ยึดจะมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่มีการใช้ลวด หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ธรรมชาติ




ส่วนผู้หญิงไปเก็บดอกไม้มาเพื่อตกแต่งต้นดอกไม้ให้มีสีสันสวยงาม การเก็บดอกไม้ที่มีตามฤดูกาลรอบๆ บริเวณหมู่บ้านหรือชุมชน แต่จะต้องเป็นดอกไม้สดเท่านั้น จะไม่นิยมนำดอกไม้เทียมหรือดอกไม้ประดิษฐ์ มาประดับทำต้นดอกไม้ เมื่อต้นดอกไม้เสร็จแล้ว ชาวบ้านจะช่วยกันนำต้นดอกไม้ไปรวมกันที่วัดเพื่อรอเวลาแห่ในช่วงค่ำ ชาวบ้านแต่ละคุ้มตั้งขบวนแห่ต้นดอกไม้ไปพร้อมกับเสียงดนตรีขับกล่อมและขบวนฟ้อนรำ


ประเพณีแห่ต้นดอกไม้จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนานของชาวบ้านตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ และความสวยงามของแสงเทียนที่ประดับโดยรอบต้นดอกไม้ โดยจะมีต้นดอกไม้สำหรับเด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น จนไปถึงผู้ใหญ่ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการแห่ต้นดอกไม้ของชาวหมู่บ้านให้คงอยู่สืบไป

สำหรับปี 2568 นี้งานจัดขึ้นวันแรก วันที่ 14 เมษายน 2568 งานวันที่สองจัดวันที่ 20 เมษายน 2568 และวันสุดท้าย วันที่ 26 เมษายน 2568 รวม 3 วัน ซึ่งทั้ง 3 วันจะเป็นวันพระ


กำลังโหลดความคิดเห็น