เพชรบูรณ์ – ส่องประเพณีแปลกวิถีชุมชนรอยต่อเหนือ-อีสาน-กลาง..ชาวบ้านรวมตัวทำพิธี “ฟันตรุษ ตีขนมส่งผี” ก่อนเริ่มวันมหาสงกรานต์ ส่งเพชฌฆาตฆ่าต้นตรุษ-ตัดสิ่งชั่วร้ายออกจากปีเก่าก่อนเริ่มปีใหม่ พร้อมตีขนมส่งผี เหมือนทำบุญอุทิศส่วนกุศลไล่ผีออกจากหมู่บ้าน
คืนที่ผ่านมา ก่อนถึงวัน 13 เมษาฯมหาสงกรานต์วันนี้ ชาวบ้านน้ำเลาหมู่ 5 ต.บ้านโคก อ.เมืองเพชรบูรณ์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโคก จัดงานประเพณีฟันตรุษ ตีขนมส่งผี ซึ่งถือเป็นประเพณีแปลกไม่ค่อยพบเห็นโดยทั่วไป ที่ชาวบ้านทำสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ซึ่งนางพัชรี แก้วจินดา วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัยเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
ว่าที่ร้อยโท ณฐพงศ์ พรพฤฒิพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโคก กล่าวว่าประเพณีไทยอันดีงามที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ล้วนมีความแตกต่างกันตามความเชื่อ ความผูกพันของผู้คนต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่รอยต่อของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ทำให้มีประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป
ดังเช่น ประเพณีฟันตรุษ ของชาวบ้านน้ำเลา ต.บ้านโคก อ.เมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นประเพณีที่แปลก ที่ชาวบ้านจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และทำสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ในช่วงสิ้นปีเก่าไทย คือ ก่อนเทศกาลสงกรานต์ สิ่งสำคัญในการประกอบพิธี คือ ต้นตรุษ ซึ่งเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นข่า พบได้ในป่าลึกเหนือหมู่บ้านน้ำเลา หุบเขาที่มีน้ำไหลและความชุ่มชื้น
ก่อนที่จะมีการจัดประเพณีฟันตรุษ ชาวบ้านน้ำเลา ทั้งผู้ใหญ่ หนุ่มสาว และเด็กๆ จะมารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงที่วัด เพื่อช่วยกันเตรียมข้าวของและสถานที่ในการจัดประเพณี
ผู้ชายจะพากันไปเข้าป่าเพื่อตัดต้นตรุษ เมื่อได้ต้นตรุษมาแล้ว ก็จะนำมามัดติดกับไม้ที่ตั้งเป็นคู่ กลางลานวัดน้ำเลา ลักษณะเหมือนกำแพง ข้างต้นตรุษจะมีกองทราย 1 กอง เพื่อให้ชาวบ้านนำดอกไม้ธูปเทียนไปประดับ ส่วนผู้หญิงก็ทำอาหารจัดงานเลี้ยง
จากนั้นในช่วงเย็น ทุกคนก็จะมารวมตัวกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านทำพิธีสรงน้ำพระ และตั้งขบวนแห่ดอกไม้ที่จัดไว้อย่างสวยงาม แห่ไปที่วัดน้ำเลา และก็จะแห่รอบต้นตรุษ 3 รอบ ปักธูปเทียนบนกองทราย พร้อมถวายดอกไม้ จากนั้นจะมีตัวแทนของหมู่บ้านแต่งกายด้วยชุดเพชฌฆาตสีแดง ออกมารำดาบรอบต้นตรุษ คล้ายกับเพชฌฆาตที่ฆ่าต้นตรุษ ลงมือฟันตรุษ ซึ่งการฟันต้นตรุษจะต้องฟันถึง 3 วัน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการตัดสิ่งชั่วร้าย ออกจากปีเก่า และต้อนรับสิ่งใหม่ในปีต่อไป
นอกจากนี้ยังเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเพื่อความสิริมงคล จากนั้นเป็นการรำถวายดอกไม้ และกิจกรรมการตีขนม และการส่งผี เป็นพิธีที่คล้ายกับการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งให้ผีกิน โดยจะมีเด็กและวัยหนุ่มสาวแต่งกายเป็นผีต่างๆ รวมตัวกันที่เหนือหมู่บ้านจัดเป็นขบวนผี โห่ร้องผ่านหมู่บ้าน ทำท่าเหมือนมาขอส่วนบุญ ขณะที่ชาวบ้านก็จะจัดกระทงขนมไว้ให้กับขบวนผี พร้อมกับจุดไฟ จุดประทัด และยิงปืน เพื่อเป็นการขับไล่ผีออกจากหมู่บ้าน ไม่ให้กลับมารบกวน
พิธีฟันตรุษเป็นพิธีกรรมความเชื่อที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งชาวบ้านแห่งนี้มีความเชื่อว่าเมื่อจัดพิธีดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดความสงบสุขและเกิดความอุดมสมบูรณ์ภายในหมู่บ้าน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และภัยพิบัติต่าง ๆ โดยพิธีฟันตรุษจะจัดขึ้นในทุก ๆ ปีก่อนเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ของไทย