เชียงราย – ผู้บริหาร-นักวิชาการ ม.แม่ฟ้าหลวง เปิดเวทีเสวนา-ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมแก้ปัญหาน้ำกกปนเปื้อนสารหนู ชี้ก่อภัยร้ายแรงสุดทำคนเสี่ยงมะเร็งทั้งลุ่มน้ำ
MFU Wellness Center และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "รู้ทัน ร่วมมือ รับมือ: ภัยสุขภาพจากแม่น้ำปนเปื้อน" กรณีกรมควบคุมมลพิษ พบแม่น้ำกกมีการปนเปื้อนสารหนูเกินมาตรฐาน และล่าสุดแม่น้ำสายชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย ก็พบสารชนิดเดียวกันเกินมาตรฐานด้วย
โอกาสนี้ ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ ม.แม่ฟ้าหลวง "แนวทางการดำเนินงานเพื่อรับมือภัยสุขภาพจากแม่น้ำปนเปื้อน" ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้กับประชาชน เสนอแนวทาง ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาความร่วมมือ และเสนอข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาแม่น้ำปนเปื้อน
ศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล.ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวว่าแม่น้ำกกเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเชียงรายมาช้านาน ปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษและมลพิษที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนและระบบนิเวศ การทำความเข้าใจจึงจะไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
จากนั้นรศ. ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ รักษาการผู้อำนวยการ MFU Wellness Center ได้นำอาจารย์แพทย์หญิงภัทรพร เมฆาวุฒิกุล อาจารย์สาขาวิชาพิษวิทยาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ไกรลักษณ์ ฟักแก้ว อาจารย์สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ ผศ.นภมณ พุ่มโสภา อาจารย์สาขาวิชาการพยาบาลชุมชน สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มฟล.ขึ้นเวทีเสวนา
อาจารย์แพทย์หญิงภัทรพร กล่าวว่าปกติโลหะหนักมีอยู่บนผิวโลกและอาจพบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่นเดียวกับสารหนูที่มีผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างเยอะ แต่โอกาสจะได้รับจากธรรมชาติในปริมาณมากมีน้อย แต่ถ้าได้รับมากจะทำให้ท้องเสียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ ระยะยาวจะทำให้ผิวหนังหนา มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น มือ-เท้าหนาและสากกว่าเดิม เพิ่มการสร้างเม็ดสี ทำให้มีสีเข้มขึ้น สัมพันธ์กับมะเร็งผิวหนังและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งมีรายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย แต่จะมีอาการเฉียบพลันหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการและการรับสาร ที่เสี่ยงมากคือการดื่มน้ำเข้าไป
ผศ.ดร.ไกรลักษณ์ กล่าวว่าปัจจุบันแม่น้ำกกพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีค่าเกินมาตรฐานมากกว่าที่ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ท้ายน้ำ อาจเกิดจากการมีแม่น้ำสาขาทำให้ความเข้มข้นลดลงและเป็นไปได้ที่ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งต้นน้ำจะได้รับผลกระทบมากกว่าแต่ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จากน้ำด้วย ดังนั้นจึงควรจัดเก็บตัวอย่างน้ำจากน้ำบาดาลและอื่นๆ ปัจจุบันทางสาธารณสุขจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ได้ดำเนินการแล้วและรอผลอยู่.