xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเจรจาพม่า-ว้า-จีน! สางปัญหาเหมืองแร่ปล่อยสารหนูปนเปื้อนน้ำกกตั้งแต่แม่อาย-เชียงราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - นักวิชาการจี้รัฐเจรจาทั้งพม่า-ว้า-ทางการและเอกชนจีน แก้ปัญหาเหมืองแร่ทุนจีนปล่อยสารหนู-โลหะหนักปนเปื้อนน้ำกกเกินค่ามาตรฐาน ตั้งแต่แม่อาย เชียงใหม่-เชียงราย กระทบคน/สัตว์เลี้ยง เศรษฐกิจ-สังคม พร้อมตั้งศูนย์ฯ ตรวจ/รายงานเรียลไทม์


หลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) กรมควบคุมมลพิษตรวจพบน้ำในแม่น้ำกกที่ไหลมาจากเขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ประเทศเมียนมา เข้าสู่ฝั่งไทยมีสารหนูปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน โดยที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ วัดได้สูงถึง 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร และที่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย วัดได้ 0.012-013 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร

ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย มองว่าการแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการ 2 เรื่อง คือ เรื่องภายในประเทศ ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคเอกชน ฯลฯ และจัดตั้ง "ศูนย์ตรวจคุณภาพน้ำ" ขึ้นในพื้นที่ จ.เชียงราย จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงและเรียลไทม์

ทั้งนี้ เชียงรายมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เช่น มฟล., มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ฯลฯ สามารถจัดตั้งที่ไหนก็ได้ จะทำให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วและนำมาแก้ไขปัญหาได้ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษแจ้งว่าจะตรวจเดือนละ 1-2 ครั้ง และต้องนำตัวอย่างน้ำไปตรวจที่เชียงใหม่ จะรู้ผลในอีก 1-2 สัปดาห์ถัดไป ซึ่งตนมองว่าล่าช้าเกินไป

ส่วนเรื่องภายนอกประเทศ รัฐบาลไทยควรเจรจาหารือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาลเมียนมา กลุ่มว้าที่ปกครองพื้นที่ รัฐบาลจีน และบริษัทจีนที่ได้สัมปทานเหมืองในเขตว้า เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะการทำเหมืองที่ใกล้กับแม่น้ำเกินไปควรจะยกเลิกและปรับไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ

“ถ้าไม่เจรจากัน 4 ฝ่ายปัญหาก็จะเกิดอีก โดยเฉพาะสารหนูที่จะถูกปล่อยลงมาเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ลุ่มแม่น้ำตั้งแต่ อ.แม่อาย ไปจนถึง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และล่าสุดยังพบมีการเปิดหน้าดินอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเข้าสู่ฤดูฝนปี 2568 นี้ก็จะเกิดการชะล้างลงมาหนักขึ้นและเกิดการตกตะกอนของสารที่ใต้ท้องน้ำมากขึ้นตามมาด้วย”

ดร.สืบสกุลกล่าวด้วยว่า ตนเห็นว่าต้องรีบแก้ไขเพราะไม่ได้กระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ชาวบ้านที่ทำประมงหาปลาและสัตว์น้ำทำไม่ได้เหมือนเดิม ภาคธุรกิจไม่ว่าเป็นการท่องเที่ยวล่องเรือ ทัวร์ช้าง ร้านอาหาร แพริมน้ำ รองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม เป็นต้น จึงถือเป็นผลกระทบในวงกว้างอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น