xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ นำทีมแจงดรามาผู้รับเหมาสร้าง “ศูนย์ราชการฯแพร่” ช้า การันตีมาตรฐานปูน-เหล็กเส้น แผ่นดินไหวไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ – พ่อเมืองนำทีมโยธาธิการ-ผู้รับเหมา สยบดรามาผู้รับเหมาตึก สตง.ถล่ม เอี่ยวสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ล่าช้า จนค้างเติ่งมาหลายผู้ว่าฯ การันตีเสร็จแน่ ล่าสุดเอกชนยอมเสียค่าปรับ 90 ล้าน-เลื่อนเป็นปีหน้า ยันปูน-เหล็กเส้นได้มาตรฐาน แผ่นดินไหวใหญ่ไม่กระทบ


นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการ จ.แพร่ เปิดเผยกรณีมีกระแสข่าวการก่อสร้างศูนย์ราชการ จ.แพร่ แห่งใหม่มีความล่าช้าว่า แพร่ ได้รับการจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ 2563 ให้สร้างศูนย์ราชการฯวงเงิน 657 ล้านบาทเศษ ซึ่งได้ดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งผู้ชนะการประกวดราคาคือ กิจการร่วมค้า AKC ประกอบด้วย บริษัทอัครกร ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยื่นซองเสนอราคาในวงเงิน 539 ล้านบาทเศษ ต่ำกว่าราคากลางเกือบ 120 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ลงนามก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค.2567 มีงวดงานทั้งสิ้น 237 งวดงาน

นายสมชัย กล่าวว่าหลังจากได้มีการลงนามสัญญาก่อสร้างทาง AKC ได้เข้าสำรวจพื้นที่และมีการปรับแก้ไขรูปแบบรายการและการตอกเสาเข็มจึงมีการส่งเรื่องขออนุมัติไปยังกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การอนุมัติมีความล่าช้าจนกระทั่งวันที่ 23 ม.ค.2568 ตนได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและ AKC เพื่อเร่งรัดการก่อสร้าง จนปัจจุบันมีผลการดำเนินการคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง คือ อาคารหลักทั้ง 4 อาคารคือ อาคารสูง 4 ชั้นคืบหน้าแล้ว 33.5%,อาคารหอประชุมขนาด 1,000 คน คืบหน้า 45%,อาคารโรงอาหารคืบหน้า 42%,และอาคารสโมสรร้านค้าคืบหน้า 43% แต่บางส่วนยังคงรอการอนุมัติ เช่น ผังบริเวณศูนย์ราชการ การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ฯลฯ

สาเหตุของความล่าช้าส่วนใหญ่ก็คือเรื่องการขอแก้ไขแบบ แก้ไขผังบริเวณ มีการเปลี่ยนรูปแบบจัดการเสาเข็มจากเสาเข็มตอกเป็นเสาเข็มเจาะ และที่สำคัญที่สุดในช่วงที่มีการลงนามไปไม่นานก็เกิดสถานการณ์โควิดฯ ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้รับจ้างได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการค่าปรับเป็น 0

หมายถึงจากวันที่ 14 มี.ค.2567 ไปจนถึงวันที่ 19 ก.ย.2568 ผู้รับจ้างจะได้รับการช่วยเหลือดังกล่าว แต่หลังจากวันที่ 19 ก.ย.ไปแล้ว หากผู้รับจ้างยังก่อสร้างไม่เสร็จก็จะมีค่าปรับวันละประมาณ 539,995 บาท จนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ ซึ่งเบื้องต้นได้คุยกับผู้รับจ้างก็บอกว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.พ.2569 ดังนั้นถ้านับจากวันที่ 20 ก.ย.2568 ก็จะมีค่าปรับประมาณ 90 ล้านบาท ซึ่งทางผู้รับจ้างก็ยอมรับว่าถ้าหากถึงสถานการณ์นั้นจริงก็ยอมจะถูกปรับโดยไม่มีเงื่อนไข

กรณีมีการวิจารณ์คุณภาพของวัสดุก่อสร้างนั้น หลังมีการส่งมอบงานมาแล้ว 9 งวดงาน ได้มีการนำชิ้นส่วนที่ใช้ก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ปูน ฯลฯ ส่งให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองตรวจสอบคุณภาพแล้ว กระทั่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบการก่อสร้างก็ไม่พบผลกระทบต่อโครงสร้างที่ก่อสร้างไปแล้วแต่อย่างใด

ด้านนายสิทธิภัทร ปาละนันทน์ โยธาธิการและผังเมือง จ.แพร่ กล่าวว่ากรณีคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง ยืนยันมีการผูกเหล็กและเทคอนกรีตตามปกติ ตามมาตรฐานได้กำหนดคุณสมบัติวัสดุไว้ชัดเจน เช่น คอนกรีตมีการเก็บตัวอย่างลูกปูนก้อนสี่เหลี่ยม ขนาด 15 คูณ 15 คูณ 15 บ่มไว้จนครบ 28 วันจากนั้นจะนำไปกดทดสอบก็ได้ค่ากำลังตามที่กำหนด ทำให้คณะกรรมการตรวจรับงานได้พิจารณาตรวจรับในแต่ละงวดงานมาแล้ว

อย่างไรก็ตามในการก่อสร้างผู้รับจ้างไม่ว่าที่ไหน มักขออนุมัติใช้เหล็กเส้นเสริมกำลังจากหลายๆ โรงงานเพื่อว่าบางโรงงานผลิตให้ไม่ทัน กรณีนี้มีประมาณ 4-5 โรงงาน เมื่อลำเลียงไปยังสถานที่ก่อสร้างทางโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดมาตรฐานตรวจสอบต่อเหล็กเส้น 10 เส้น ซึ่งผลการทดสอบที่ผ่านมาถือว่าผ่านมาตรฐานและเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้ระบุไว้ทุกประการ และเมื่อแผ่นดินไหวรุนแรง ผู้ว่าราชการ จ.แพร่ ได้สั่งการให้ตรวจสอบอาคารที่ก่อสร้างทันที ก็ไม่พบแม้แต่รอยร้าวใดๆ

นายสิทธิภัทร กล่าวอีกว่าหลังมีการลงนามก่อสร้างเมื่อปี 2563 และให้ผู้รับจ้างเข้าทำงานได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 งานแรกคือก่อสร้างฐานรากที่จะมีการปล่อยเหล็กโผล่ขึ้นมาและมีกองเหล็กเส้นเสริมกองอยู่ ก็จะเห็นเป็นสนิมนั้น ซึ่งตนยืนยันว่าเป็นสนิมผิวที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีที่สัมผัสกับออกซิเจน เมื่อสาดน้ำปูนเคลือบไว้ก็ทำให้สนิทผิวไม่เกิดหรือเกิดช้าลง และเมื่อจะก่อสร้างต่อไป ทางผู้รับจ้างก็จะใช้แปลงลวดเหล็กขูดสนิมผิวออก และไม่ทำให้คุณสมบัติของเหล็กเส้นเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ยืนยันว่าแบบศาลากลางจังหวัดสูง 4 ชั้นหรือหอประชุมขนาด 1,000 คน เป็นแบบมาตรฐานของโยธาธิการและผังเมือง ใช้มาแล้วหลายจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ ลำพูน เชียงใหม่ ฯลฯ และอีกหลายๆ จังหวัด ซึ่งออกแบบได้อย่างมั่นคงแข็งแรงแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น