จันทบุรี- มาตามนัด !! ผู้ได้รับผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนใน จ.ตราด และจันทบุรีกว่าพันคน รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ทวง 3 เรื่องร้องขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ไขหวั่นกระทบผลผลิตใหญ่ที่จะออกสู่ตลาดช่วงกลาง เม.ย.นี้ ย้ำหนักสุดในรอบ 30-40 ปี
จากกรณีที่ สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) ได้ออกประกาศแจ้งเรื่องการไม่รับรองผลตรวจของแล็บไทย 2 แห่งที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในประเทศจีน หลังออกใบรับรองว่าผลทุเรียนจากไทยไม่พบสารย้อมสี Basic Yellow (BY2) แต่จากการตรวจของด่านศุลการกรจีนแบบ 100% กลับพบสาร BY2 จนสร้างความหวั่นวิตกให้กับผู้ที่อยู่ในโครงสร้างวงจรทุเรียนว่า ยังคงมีการลักลอบใช้สาร BY2 หรือเป็นเพียงการปนเปื้อนจากอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องมีพิสูจน์กันต่อไป
เนื่องจากฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออก กำลังจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนเม.ย.2568 จึงทำให้เกิดความกังวลใจต่อผู้ส่งออกทุเรียนไทยไปจีนว่า หากแล็บที่ให้บริการตรวจรับรองผลผลิตทุเรียนที่มีไม่เพียงพออยู่แล้ว กลับลดจำนวนลงเรื่อยๆ จากการตรวจสอบของจีน จะทำให้สถานทุเรียนไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะชาวสวน ผู้ประกอบการล้ง ผู้ส่งออกและห้องปฏิบัติการ
อีกทั้งปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการส่งออกทุเรียนไทยก็คือ “ทุเรียนอ่อน” ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้( 8 เม.ย.) กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกลูกหนาม หรือทุเรียนใน จ.จันทบุรี และตราด ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวน สายตัด และผู้ประกอบการส่งออกกว่า 1,000 คนได้รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและจังหวัดเร่งแก้ปัญหา 3 เรื่องอย่างเร่งด่วนคือ 1.ปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่มีเป็นจำนวนมาก
2.ปัญหาทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกนำมาสวมสิทธิ์ในประเทศ และ 3.ปัญหา LAB ที่ใช้ในการตรวจทุเรียนส่งออก ที่อาจมีไม่เพียงพอในช่วงผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในช่วงกลางเดือน เม.ย.2568
นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญการเพาะปลูกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี และเจ้าของเพจ "ทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน" เผยว่าการเคลื่อนไหวของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้เกิดจากผลกระทบจากห่วงโซ่ของการผลิตทุเรียนทั้งระบบ
" สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ปัญหาที่เกิดกับชาวสวนและห่วงโซ่ในการผลิตทุเรียนเพื่อส่งออกทั้งระบบในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวสวน เกิดความกังวลใจว่าเมื่อถึงเวลาที่ทุเรียนออกเต็มพื้นที่ช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้จะได้รับผลกระทบทั้งหมด จึงจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ในรอบ 30-40ปี เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง "
โดยในวันนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รวมตัวกันยื่นหนังสือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อขอให้เร่งแก้ปัญหา LAB ที่ใช้ในการตรวจการส่งออกโดยเร็ว
"วันนี้จะต้องสอบถามผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหา รวมทั้งการดำเนินคดีกับผู้ที่ตัด และค้าทุเรียนอ่อน รวมทั้งการลักลอบนำทุเรียนเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เพื่อการส่งออกในนามประเทศไทย จะดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้คนเหล่านี้เกรงกลัวและหยุดพฤติกรรมที่ทำลายกระบวนการห่วงโซ่ทุเรียนในประเทศไทย"ผู้เชี่ยวชาญการเพาะปลูกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี กล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้ออกประกาศให้ผู้ส่งออกทุเรียนผลสดจากไทยไปจีนต้องแนบผลการตรวจรับรอง (Test Report) สารแคดเมียม ที่จะต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน 0.05 ไมโครกรัม และ BY2 ต้อง Not Detected และจะต้องเป็นผลจากห้องแล็บที่ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนจากสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) แต่สุดท้ายก็ยังมีการตรวจพบสารดังกล่าว