โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทวาย กับความเสี่ยงของพื้นที่ข้างเคียง
ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ เปิดเผยว่า ฝุ่นควันจากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาช่วงปลายเดือนมีนาคม 2568 ยังไม่ทันจางหายไป ข่าวเก่าเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน เรื่องข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศรัสเซียและเมียนมาในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เขตเศรฐกิจพิเศษรัฐทวายประเทศเมียนมาก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
เพราะทวายซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ติดต่อชายแดนไทยตลอดแนวยาวจังหวัดกาญจนบุรีถึงจังหวัดระนอง มีสารพัดคำถาม สารพัดความกังวลใจ เกี่ยวกับความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปรกติสุขของผู้คนในพื้นที่และปริมณฑล ก่อนที่จะวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทวาย ผมขอเชิญชวนทุกท่านดูข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้และการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ บนโลกใบนี้สักเล็กน้อยก่อน
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลกสร้างขึ้นในทศวรรษ 1950 ในปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกรวม 440 แห่ง ตั้งอยู่ใน 52 ประเทศ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมคิดเป็นร้อยละ 9 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้อยู่ทั่วโลก ห้าประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้มากที่สุดตามลำดับคือ สหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และเกาหลีใต้ รูปที่ 1
ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
กรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ปี 1995 แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ-โอซากา (Kobe-Osaka earthquake) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่งของบริษัท คันไซอิเลกทริก (Kansai Electric) ซึ่งใช้งานเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ PWRไม่ได้รับความเสียหาย ต่อมาในปี 1999 เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 ริกเตอร์ ซึ่งเกิดในพื้นที่ตอนกลางของเกาะไต้หวัน เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 หน่วย ที่ Chinshan และ Kuosheng ทางตอนเหนือของเกาะปิดลงด้วยระบบอัตโนมัติ โดยไม่เกิดอันตราย
อนึ่ง หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบและโอซากา หน่วยงานนิวเคลียร์สากลหลายหน่วยงานได้มีการประชุมทบทวนระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์ด้านนิวเคลียร์ และได้ออกข้อกำหนดให้ปรับปรุงการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น และได้ข้อสรุปว่าแบบของโรงฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างใหม่ต้องต้านแรงแผ่นดินไหวในระดับความแรง 7.75 ริกเตอร์ได้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2011 ได้เกิดแผ่นดินไวครั้งใหญ่ ขนาด 9.0 – 9.1 Mw บริเวณใต้ทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวอยู่ในทะเลห่างจากเมือง Sendai และแหลม Oshika ไปทางตะวันออก 130 กม และ 70 กม ตามลาดับ เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima I ได้รับความเสียหายปานกลาง-มาก เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีบางส่วน ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งเรียงรายอยู่บริเวณชายฝั่ง อีกสามแห่ง ไม่ได้รับผลกระทบ รูปที่ 3
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทวาย กับความเสี่ยงจากพิบัติภัยแผ่นดินไหว
คณะกรรมการแผ่นดินไหวแห่งชาติเมียนมาได้ปรับปรุงและตีพิมพ์แผนที่แสดงขอบเขตพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวระดับต่าง ๆ สูงสุดระดับ V ตามแนวรอยเลื่อนสกายเป็นแนวยาวตั้งแต่ขอบประเทศด้านทิศเหนือ ผ่านเขตเมืองมัณฑะเลย์และเมืองสกาย ศูนย์กลางแผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่แล้ว ลงไปถึงเมืองย่างกุ้งทางใต้ รัฐทวายที่อยู่ขอบด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวน้อยที่สุดของประเทศเมียนมาคือ ระด้บ I ซึ่งคงเป็นคำตอบแล้วว่าทำไม รัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลรัสเซียจึงเลือกทวายเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รูปที่ 4
เมื่อพิจารณาสภาพทางธรณีวิทยาในภาพกว้างๆ แล้วจะเห็นว่าโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ทวายมีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นบริเวณที่กลุ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายโรง รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Fukushima ส่วนข้อแตกต่างที่เป็นคุณต่อพื้นที่ทวายหลายประการ กล่าวคือ 1) แนวมุดตัวไปทางตะวันออกของแผ่นธรณีอินเดีย-ออสเตรเลีย (India-Australia Plate) ลงไปใต้แผ่นธรณีเมียนมาตะวันตก (West Myanmar Plate) ทำให้เกิดร่องลึกใต้สมุทร ร่องลึกอันดามัน-สุมาตรา (Andaman – Sumatra Trench)
โดยระนาบมุดตัวเอียงเทค่อนข้างชันมากไปทางทิศตะวันออก 2) ขอบตะวันออกของแผ่นธรณีเมียนมาตะวันตกคือบริเวณแนวต่อเนื่องของรอยเลื่อนสกายที่ทอดยาวลงมาใต้ทะเลอันดามัน 3) ระนาบรอยเลื่อนสกายในทะเลมีมุมเอียงเทไปทางตะวันตก ต่างจากส่วนของระนาบรอยเลื่อนสกายทางทิศเหนือที่อยู่ในแนวดิ่ง หรือเกือบตั้งฉาก 4) การรับแรงบีบอัดจากการมุดตัวที่มาจากทิศตะวันตกที่แตกต่างกันเป็นช่วงๆ ทำให้รอยเลื่อนสกายใต้ทะเลฉีกขาดเป็นรอยเลื่อนขวางขนาดเล็กหลายแห่ง 5) แผ่นดินไหวขนาดต่างๆในอดีตทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวหนาแน่นอยู่ระหว่างแนวระนาบการมุดตัวและแนวรอยเลื่อนสกายในทะเล
อย่างไรก็ตามโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 9 – 9+ จากรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำขนาดใหญ่ (Mega Thrust) แบบที่เกิดในทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2004 หรือที่เกิดขึ้นในทะเลทางตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นในปี 2011 ข้างต้น ยังมีอยู่ แม้จะน้อยมาก การศึกษาชั้นตะกอนสึนามิ ตลอดแนวชายฝั่งทวายจึงจำเป็น มีประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผน ก่อนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทวาย