เชียงใหม่ - นายแพทย์ สสจ.เชียงใหม่ ห่วงกรณีแม่น้ำกกมีสีขุ่นผิดปกติและตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งตะกั่วและสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ชี้มีผลกระทบต่อสุขภาพ แนะหากมีประวัติการสัมผัสน้ำและมีอาการ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมเตือนให้หลีกเลี่ยงการนำมาใช้บริโภคโดยตรง
จากกรณีที่พบว่าน้ำในแม่น้ำกกมีสีขุ่นผิดปกติบริเวณพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) รายงานผลการดำเนินการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในห้องปฏิบัติการ พบว่า ตะกั่ว และสารหนู มีค่าเกินมาตราฐานนั้น วันนี้(5 เม.ย.68) นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตะกั่ว ที่พบในแม่น้ำกก อาจส่งผลต่อสุขภาพทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อย่างรุนแรง อาจชักหรือหมดสตขณะที่สารหนูนั้น ผู้ที่ได้รับพิษจะเกิดความผิดปกติของผิวหนังโดยทำให้เกิดผื่นคันบริเวณที่สัมผัส คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรือใช้น้ำไปปรุงอาหาร หรือรดน้ำพืชผัก โดยเฉพาะเด็กและหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยจึงทำให้ได้รับสารหนูในปริมาณที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสพบสารหนูในน้ำนมแม่ที่สามารถผ่านทางรกไปยังลูกได้ นอกจากนั้นผลการตรวจคุณภาพน้ำยังพบว่ามีปริมาณโคลิฟอร์ม แบคทีเรียสูง ซึ่งหากนำน้ำดังกล่าวมาบริโภคจะทำให้เกิดอาการ ไข้ ปวดท้อง และท้องเสีย โดยการนำน้ำมาใช้ควรผ่านกระบวนการทำความร้อน เช่น การต้มให้น้ำเดือด หรือผ่านระบบเครื่องกรองน้ำ ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยกำจัดหรือควบคุมปริมาณของแบคทีเรียให้พอเหมาะ
ทั้งนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกัน และลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำให้ประชาชน หลีกเลี่ยงการนำน้ำในแม่น้ำกกมาบริโภคโดยตรง หากมีประวัติสัมผัสน้ำโดยตรง และมีอาการ ผื่นคัน ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ พร้อมทั้งขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จะดำเนินการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด โดยผู้ที่มีอาการหรือสงสัยว่าเจ็บป่วยจากการสัมผัสน้ำแม่กกดังกล่าว สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิการรักษา