ตราด – ชาวเกาะช้าง คัดค้านข้อสรุป กทพ.เลือกเส้นทาง 3 สร้างทางพิเศษข้ามเกาะช้าง ชี้ไม่ตอบโจทย์พัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดเนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่เข้าเมือง ขณะจันทบุรีอยู่เฉยๆก็ได้ประโยชน์แทน
จากกรณีที่การทางพิเศษแห่งประเทศฯไทย ได้จัดประชุมรับฟังความ เห็นประชาชนในพื้นที่ จ.ตราด เป็นครั้งที่ 2 ในโครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 ที่ผ่านมาและได้สรุปแนวเส้นทางที่ 3 ในการสร้างสะพานข้ามทะเลโครงสร้างสะพานคานขึง ระยะทาง 5.90 กิโลเมตร เพื่อให้เรือขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้
โดยมีจุดเริ่มต้นของโครงการอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4066 บริเวณ กม. 2+840 บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด และเป็นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่างจากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือแล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026บริเวณ กม.5+300 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง
มีระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 ปี นับจากที่ได้ผลสรุปในเรื่องการรับฟังความคิดในครั้งสุดท้ายแล้ว จะมีปรับปรุงอีกครั้งและจำนำมาเสนอในช่วงปลายปี 2568 นั้น
วันนี้ ( 4 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากชาวเกาะช้างที่เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันดังกล่าวว่า แม้ที่ประชุมจะเห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าว แต่ก็มีชาวเกาะช้างอีกจำนวนหนึ่งที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของการทางพิเศษ ฯ เนื่องจากจุดเริ่มต้นการก่อสร้างสะพานที่บริเวณบ้านธรรมชาติล่างติดกับท่าเรือเฟอร์รี่ จะทำให้ไม่มีรถยนต์ผ่านเข้าตัวเมืองตราด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในเขตตัวเมือง
เนื่องจากผ่านมาสถิตินักท่องเที่ยวจำนวน 2 .2 ล้านคนที่เดินทางมายัง จ. ตราด จะมีประมาณ 60-70% ที่เดินทางไปยังเกาะช้างและเกาะกูด
“ การก่อสร้างทางเชื่อมเกาะช้าง นอกจากจะไม่ตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัดตราดแล้ว ผลดีทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกลับไปอยู่ที่ จ.จันทบุรีมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและออกจะใช้เส้นทางลัดออกจากตัวเมืองตราด และไม่จับจ่ายใช้สอยอะไรที่จะสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ จึงขอให้มีการทบทวนใหม่อีกครั้ง”
โดยชาวเกาะช้าง ยืนยันว่าการก่อสร้างทางพิเศษข้ามเกาะช้าง ควรได้ประโยชน์มากกว่าการสร้างสะพาน แต่จะต้องเป็นการสร้างแลนด์มาร์กให้กับชาวตราดหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ด้วย ที่สำคัญควรจัดให้จุดพักกลางสะพาน เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อน หรือเป็นแหล่องเที่ยว และไม่ควรห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานฯ ด้วยเช่นกัน