กาญจนบุรี - มาทำความเข้าใจ เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่มัณฑะเลย์ ป ระเทศเมียนมา ขนาด 7.7 ริกเตอร์ (Mw) กับ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์
จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูด ลึก 10 กิโลเมตร เหตุเกิดบนรอยเลื่อนสะกาย มีศูนย์กลางที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ แรงสั่นสะเทือนส่งผลถึงกรุงเทพ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และเกิดโศกนาฏกรรม ตึกสูงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) ที่กำลังก่อสร้างพังถล่มราบคาบอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งตึกสูง ทางด่วน รถไฟลอยฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน ต่างรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความหวาดกลัวและความวิตกกังวลให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ ออกมาเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมานั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยไม่น้อย เชื่อว่าความกังวลใจของพวกเราทุกคนยังมีอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน
ตนเองพอมีความรู้และประสบการณ์ด้านธรณีวิทยา และลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของชั้นหินและชั้นตะกอนของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้าง ขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแผ่นดินไหวจากระยะไกล กับผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือและกรุงเทพฯและปริมณทล เมื่อปี 2554 (2011) และเหตุแผ่นดินไหวจากระยะไกลเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่เพิ่งผ่านไป
แผ่นดินไหวจากระยะไกล พ.ศ.2554 (2011) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้น 10 กม ขนาด 6.8 ริกเตอร์ (Mw) จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว (Epicenter) อยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายไปทางทิศเหนือประมาณ 110 กม. และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 900 กม. (รูปที่ 1)
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้อาคารสาธารณะ วัด โรงเรียน และบ้านในพื้นที่อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสนได้รับความเสียหายปานกลางถึงมาก พื้นที่จังหวัดที่อยู่ไกลออกไป เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว ตั้งแต่ 250 – 350 กม. ไม่ได้รับความเสียหาย เพียงได้รับรู้ถึงการสั่นไหวมากน้อยต่างกัน ส่วนบริเวณกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งอยู่ห่างจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว 900 กม. ผู้ที่อยู่บนอาคารสูงเท่านั้นที่ได้รับรู้ถึงการสั่นไหว
เราได้สรุปเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นไว้ ดังนี้ ก) คลื่นแผ่นดินไหวซึ่งมีธรรมชาติการเดินทางแบบกระจายตัวออกรอบทุกทิศทางจากจุดกำเนิดคลื่น(Hypocenter หรือ Focus) ในรูปทรงกลม และมีการลดทอนพลังงานของคลื่นแผ่นดินไหวระยะไกล (attenuation of the distance earthquake waves) โดยลำดับๆ
ข)ลักษณะทางธรณีวิทยา ชนิดและโครงสร้างชั้นตะกอนใต้ดินที่ส่งเสริม หรือไม่ส่งเสริมให้มีการขยายคลื่นแผ่นดินไหว โดยเฉพาะคลื่นแผ่นดินไหวพื้นผิว (Surface waves) เป็นตัวกำหนดความรุนแรงของแผ่นดินไหวและการป้องกันความสูญเสียจากพิบัติภัยแผ่นดินไหว ของจังหวัดภาคเหนือของไทย แม้แผ่นดินไหวข้างต้นจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ 6.8 ริกเตอร์ (Mw)
และ ค) ภัยคุกคามจากแผ่นดินไหวของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย น่าจะเกิดจากรอยเลื่อนมีพลังในท้องถื่น (Local active faults) มากกว่าแผ่นดินไหวจากระยะไกล (Distance earthquakes)
แผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ กับผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล เกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันศุกร์ 28 มีนาคม 2568(2025) ก็เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้น 10 กม. แต่ขนาดความรุนแรงสูงถึง 7.7 ริกเตอร์ (Mw) เกิดขึ้นบริเวณด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนสกาย (Sagaing Fault) มีจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวอยู่บริเวณตะวันตกของเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งอยู่ห่างจาก กรุงเทพฯไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 1,020 กม.
โดยปริมาณพลังงานของแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรง 7.7 (Mw) นี้ มีมากกว่าปริมาณพลังงานของแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรง 6.8 Mw ประมาณ 32.8 เท่า รอยเลื่อนสกาย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแผ่นดินไหวข้างต้น เป็นรอยเลื่อนเหลื่อมขวาขนาดใหญ่ในประเทศเมียนม่า มีแนวการวางตัวประมาณ เหนือ -ใต้ โดยมีระนาบรอยเลื่อนวางตัวในแนวดิ่ง และเป็นรอยต่อของแผ่นธรณี (Lithosphere plates) สองแผ่น รอยเลื่อนสกายนี้ พาดผ่าน เมืองสำคัญสามเมือง จากเหนือลงใต้ คือเมืองมัณทะเลย์ เมืองเนปิดอร์ และเมืองย่างกุ้ง ก่อนต่อลงสู่ทะเลบริเวณปากแม่น้ำอิระวดี (รูปที่ 2)
ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นหินแข็ง และโครงสร้างชั้นตะกอนใต้ดินที่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ได้ช่วยลดทอนพลังงานของคลื่นแผ่นดินไหวระยะไกลจากมัณฑะเลย์โดยลำดับๆ อย่างไรก็ตามในส่วนที่เป็นหุบรอยเลื่อนที่มีชั้นตะกอนไม่แข็งตัวหนา คลื่นแผ่นดินไหวพื้นผิว (Surface waves) จะมีการขยายความสูงคลื่นและเดินทางได้ช้าลง
เมื่อพลังงานคลื่นแผ่นดินไหวส่วนที่เหลือจากการลดทอนจากจุดต้นกำเนิดแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ได้เข้าสู่ที่ราบภาคกลางตอนบน ชั้นตะกอนหนาเพิ่มขึ้นๆ ความสูงคลื่นพื้นผิวก็มีการขยายตัวมากขึ้นเป็นลำดับๆ มากสุดกว่า 3 เท่า ตามความหนาชั้นตะกอนไม่แข็งตัวโดยเฉพาะชั้นดินเหนียวกรุงเทพ (Bangkok marine clay) ซึ่งหนาขึ้นตามลำดับจากแอ่งเจ้าพระยาตอนบน โดยอาจหนากว่า 20 ม. บริเวณใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา การขยายความสูงคลื่นและการเคลื่อนตัวช้า สอดรับกับความถี่การแกว่งธรรมชาติ (Natural frequency) ของอาคารโดยเฉพาะของอาคารสูง ทำให้เกิดการควบรวมความถี่ (Resonance frequency) อาคารสูงหลายแห่งจึงเกิดการสั่นคลอนเพิ่มมากขึ้น
ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ การประเมินลักษณะระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ข้างต้น ตามระบบเมอเคลลี่ประยุกต์ (Modified Mercalli Intensity หรือ MMI) โดยการศึกษาผลของแผ่นดินไหวที่มีต่อคน สิ่งก่อสร้างและสภาพแวดล้อม (และ/หรือใช้ร่วมกับการคำนวณจากระดับการสั่นไหวที่วัดด้วยเครื่องมือเฉพาะที่ติดตั้งในพื้นที่) แบ่งเป็น 12 ระดับความรุนแรง ตั้งแต่ระดับที่ 1 – 12 โดยใช้ตัวเลขโรมัน เช่น ระดับที่ I ไม่มีผู้ใดสามารถรับรู้ถึงการสั่นไหว ยกเว้นผู้พิการทางสายตาเพียงบางคนเท่านั้น ถึงระดับที่ XII เกิดการทำลายล้างอันร้ายแรง เป็นต้น
ข้อมูลระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว (MMI) จากกรมธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (USGS) เผยแพร่โดย BioThai ระบุว่าแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์วันที่ 28 มีนาคม 2568 มีระดับความรุนแรงฯ แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (รูปที่ 3)
ตัวแปลสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างของระดับความรุนแรงฯ ประกอบ ด้วย a) ระยะห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว b) สภาพธรณีวิทยาของพื้นที่ และ c) ลักษณะและสภาพชั้นตะกอนไม่แข็งตัวใต้ผิวดิน (subsurface unconsolidated sediments) ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว สูงสุดเท่ากันอยู่ที่ มัณฑะเลย์ และเนปิดอร์ คือระดับ 8.7 ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระดับ 4.2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระดับ 5.2 – 5.7 และที่กรุงเทพ ระดับ 4.5 – 5.2
ตัวอย่างรายละเอียดระดับความรุนแรงที่ระดับ 8.7 (IX) คือ เกิดการพังทลายอย่างมากของโครงสร้างที่ออกแบบพิเศษ กรอบโครงสร้างที่ออกแบบพิเศษมีการเอียงเทในอาคารขนาดใหญ่จำนวนมาก และมีการพังทลายลงของอาคารบางส่วน อาคารจำนวนมากเคลื่อนตัวออกจากฐานราก เกิดรอยแยกบนพื้นดิน และมีการแตกหักของท่อน้ำใต้ดิน ส่วนระดับความรุนแรงที่ระดับ V (5.2 – 5.7 ที่เชียงใหม่ และ4.5 – 5.2 ที่กรุงเทพ)ได้ระบุไว้ ดังนี้ เกือบทุกคนรู้สึกถึงการสั่นไหว หลายคนถูกปลุกให้ตื่น จานชามบางส่วน หน้าต่างและอื่นๆ มีการแตกร้าว ปูนปลาสเตอร์แตกร้าว สิ่งของภาชนะที่ไม่เสถียรล้มคว่ำอาจสังเกตเห็นการสั่นไหวของ ต้นไม้ เสาสูงและสิ่งสูงๆ นาฬิกาลูกตุ้มอาจหยุดแกว่ง
ระดับความรุนแรงฯ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน (4.2) ต่ำกว่าของจังหวัดเชียงใหม่ (5.2 – 5.7) ทั้งที่แม่ฮ่องสอนอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากกว่า ประมาณ 280 กม. ส่วนเชียงใหม่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวไกลกว่า ประมาณ 460 กม. แสดงว่าชั้นตะกอนหนาใต้แอ่งเชียงใหม่เป็นตัวขยายคลื่นแผ่นดินไหวพื้นผิวที่มีนัยสำคัญต่องานด้านวิศวกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ส่วนระดับความรุนแรงฯ ที่กรุงเทพ (4.5 – 5.2) ใกล้เคียงกับของเชียงใหม่แสดงว่าชั้นตะกอนใต้กรุงเทพขยายคลื่นแผ่นดินไหวพื้นผิวได้สูงกว่าชั้นตะกอนใต้แอ่งเชียงใหม่มาก