xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทรับเหมาสร้างตึก สตง.ถล่ม โผล่ร่วมรับงานสร้างหอพักแพทย์ ม.แม่ฟ้าหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย – พบชื่อบริษัทบริษัทรับเหมาก่อสร้างตึก สตง.ถล่ม โผล่ร่วมกิจการร่วมค้า รับงานสร้างหอพักแพทย์ รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.แม่ฟ้าหลวง มูลค่า 468 ล้าน ขณะที่ผู้บริหารมหา’ลัย ยันหลังแผ่นดินไหวไร้ผลกระทบ แต่เร่งเก็บตัวอย่างเหล็ก-คอนกรีต ตรวจซ้ำแล้ว


กรณีมีกระแสข่าวและเพจบางรายเผยแพร่ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับก่อสร้างอาคารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งถล่มลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ผ่านมา ปรากฏชื่อในการประกาศรับวิศวกรเพื่อเข้าไปก่อสร้างภายในศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ด้วย โดยเป็นการก่อสร้างหอพักบุคลากรทางการแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปการ” มูลค่า468 ล้านบาทนั้น

ล่าสุดทาง มฟล.ได้เข้าตรวจสอบอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงศูนย์การแพทย์ มฟล. อาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าว ซึ่งกำลังมีการก่อสร้าง ยืนยันไม่พบความเสียหายจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ขณะที่ ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มฟล.ได้สั่งการให้ส่วนอาคารสถานที่ได้เก็บตัวอย่าง เหล็กและคอนกรีตที่ใช้ในโครงการก่อสร้างมาตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้ทาง มฟล.ระบุว่าการก่อสร้างอาคารทุกหลังมีการออกแบบเพื่อรองรับความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว การจัดซื้อจัดจ้าง และตรวจรับงานเป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง มีผลการทดสอบวัสดุทุกชนิด ถูกต้องตามรูปแบบรายการตามมาตรฐานที่กำหนด การควบคุมงานและการตรวจรับงานถูกต้องตามสัญญา


มฟล.แจ้งอีกว่าสำหรับหอพักบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเป็นอาคารที่ถูกกล่าวถึงมีผู้รับจ้างก่อสร้างเป็นกิจการร่วมค้า TPC ประกอบด้วยบริษัท ไทยพารากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด กับบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งยืนยันว่าการจัดหาเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธี E -bidding รวมทั้งบริษัทควบคุมงานก่อสร้างก็ไม่ใช่รายเดียวกันกับที่ปรากฎเป็นข่าวแต่อย่างใด

ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว 46% ล่าช้าไปจากแผนเดิมที่กำหนดไว้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่งานโครงสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดและอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนงานสถาปัตยกรรมและงานภายนอก ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างอาคารที่สร้างแล้วเสร็จนั้น ในรายการประกอบแบบมีการกำหนดมาตรฐานของวัสดุ โดยเฉพาะเหล็กต้องได้รับมาตรฐาน มอก.และผ่านการทดสอบจากหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนให้ทดสอบ มีการตรวจวัสดุที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้าง จากหน่วยงานบริการทดสอบวัสดุที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามข้อกำหนดแบบและมาตรฐานการทำงาน ทั้งนี้ไม่มีเหล็กยี่ห้อที่ปรากฎตามข่าวอีกด้วย


มฟล.ยืนยันว่าได้ควบคุมดูแลให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบและมาตรฐาน โดยมีบริษัทควบคุมงานก่อสร้างและมีกรรมการควบคุมการทำงาน มีการประชุมติดตามงานร่วมกับผู้รับจ้างทุกสัปดาห์ ตลอดจนเข้าไปสังเกตการณ์และตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างในขั้นตอนสำคัญ ซึ่งการดำเนินงานก่อสร้างนั้นเป็นไปตามหลักการออกแบบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว เป็นไปตามการคำนวนโครงสร้างตามประเภทและขนาดของอาคาร

อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเพิ่มเติมด้วยการเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นร่วมกับทีมวิศวกรโยธา ซึ่งผลก็ไม่พบความเสียหายดังกล่าวกระนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกภาคส่วนเรื่องความปลอดภัย มฟล.จึงได้ประสานงานผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกลางเข้าตรวจสอบอีกครั้งต่อไป.




กำลังโหลดความคิดเห็น