xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป)สองตา-ยายเลิกปลูกข้าวนาปรังหนีขาดทุนซ้ำซาก หันปลูกถั่วลิสงขายรายได้ดีกว่าหลายเท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - สองตายายชาวตำบลบัวบาน อ.ยางตลาด ใช้พื้นที่แค่ 1 ไร่ จากที่เคยทำนาข้าว-ปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำมาก และสิ้นเปลืองปุ๋ยบำรุง หันมาปลูกถั่วลิสงที่ใช้น้ำน้อย ดูแลง่าย อายุสั้น เก็บผลผลิตขายได้กำไรมากกว่า 20,000 บาท ดีกว่าปลูกข้าวหรือพืชชนิดอื่น ขณะที่เขื่อนลำปาวส่งน้ำเต็มประสิทธิภาพของคลองช่วยเหลือพื้นที่เกษตร และทำประมงกว่า 3 แสนไร่ พร้อมส่งน้ำช่วยพื้นที่ด้านท้ายอีก 3 จังหวัด


จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ พื้นที่ใช้น้ำชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว พบว่านอกจากจะทำการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ปลูกข้าวนาปรัง ข้าวโพด และพืชผสมผสานตามฤดูกาลแล้ว ยังมีเกษตรกรหลายรายปลูกถั่วลิสงเพื่อขายผลผลิตที่เป็นฝักสดอีกด้วย โดยจะขายในราคา กิโลกรัมละ 30 บาท ราคาสูงกว่าขายข้าวเปลือก ในราคากิโลกรัมละ 5-8 บาททีเดียว

นายอุทัย ภูบุญเติม อายุ 73 ปี เกษตรกรบ้านเชียงงาม หมู่ 22 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ในฤดูแล้งปีนี้ตนใช้ที่ดินทำกิน 1 ไร่ ทำการปลูกถั่วลิสง เป็นการปลูกปีที่ 2 เพราะเห็นว่ารายได้ดีกว่าปลูกข้าวนาปรังและข้าวโพด หรือพืชชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ ถั่วลิสงถือเป็นพืชทางเลือกใหม่ โดยจะใช้ประโยชน์จากน้ำของชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว แต่ก็ใช้น้ำน้อย ต้านทานโรค ใช้ปุ๋ยคอกบำรุง ไม่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงจำนวนมาก และไม่สิ้นเปลืองปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงเหมือนข้าวนาปรัง


สำหรับพื้นที่จำนวน 1 ไร่นี้แต่ก่อนตนเคยปลูกข้าว และข้าวโพด แต่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ฤดูแล้งปีที่แล้วจึงชวนภรรยาหันมาปลูกถั่วลิสงขายฝักสด อายุ 80-90 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตขายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท ได้เงินมากกว่า 20,000 บาท ซึ่งปีนี้คาดว่าน่าจะได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทเช่นกัน แต่หากเป็นข้าวนาปรังได้ไม่เกิน 2,500 บาท หักค่าจ้างรถไถและปุ๋ยเคมีก็แทบจะไม่เหลือ

“สู้ปลูกถั่วลิสงไม่ได้ ปลูกง่าย ดูแลง่าย ผลผลิตขายเป็นฝักสดให้แม่ค้าเพื่อไปต้มขายอีกทีหนึ่ง หรือตากแดดขายเป็นเมล็ดพันธุ์ก็ได้ เสียดายพื้นที่ปลูกน้อย ไม่พอขาย” นายอุทัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาขายผลผลิตฝักถั่วลิสงจะสูงกว่าข้าว ข้าวโพดหรือพืชชนิดอื่น แต่ภาพรวมทั่วไปกลับไม่ค่อยจะมีคนนิยมปลูกถั่วลิสงนัก เนื่องจากต้องมีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องการน้ำเยอะ เพราะหากไม่หมั่นตรวจสอบปริมาณน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากมีน้ำเข้าแปลงถั่วลิสงมากเกินไปจะทำให้รากเน่าตาย และต้องคอยกำจัดหญ้า วัชพืช ไม่ให้เกิดขึ้นในแปลงถั่วลิสงเพื่อแย่งอาหาร ไม่เหมือนทำนาปรังที่ทำง่าย แค่ใส่น้ำหล่อเลี้ยง ให้ปุ๋ยบำรุงและรอเก็บผลผลิต

ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสงต้องเป็นคนขยัน เอาใจใส่แปลงถั่วลิสงอย่างสม่ำเสมอ มีเวลาเฝ้าแปลงถั่วลิสงอย่างเต็มที่ อย่างที่นายอุทัยและภรรยาบริหารจัดการในแปลงถั่วลิสงอย่างดี จนได้ผลผลิตมีคุณภาพ และขายได้กำไรกว่า 20,000 บาทดังกล่าว


ขณะที่นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ จากความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี




ทั้งนี้ ในส่วนการบริหารจัดการส่งน้ำ ปัจจุบันทางโครงการฯ ได้ส่งน้ำเต็มประสิทธิภาพของคลองชลประทาน โดยส่งเข้าคลองฝั่งขวาและฝั่งซ้ายเฉลี่ยวันละ 4.59 ล้าน ลบ.ม.เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2567/2568 ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรเพาะปลูกพืชเต็มพื้นที่ 296,987 ไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 291,602 ไร่, พืชไร่ 63 ไร่, พืชผัก 148 ไร่, บ่อปลา 1,435 ไร่,บ่อกุ้ง 3,739 ไร่

นอกจากนี้ยังระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิมผ่านอาคารระบายน้ำ และระบายน้ำผ่านอาคารผันน้ำ หรือสปริลเวย์เฉลี่ยวัน 2.22 ล้าน ลบ.ม. เพื่อลงสู่แม่น้ำชีไหลไปช่วยเหลือพื้นที่ด้านท้าย ใน จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งรวมปริมาณน้ำส่ง ปริมาณน้ำระบาย ประปา อุตสาหกรรม และมีปริมาณน้ำออกจากอ่างทั้งหมดเฉลี่ยวันละ 8.36 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตามขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด แบ่งปัน และให้คุ้มค่ามากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น