xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรเมืองกาฬสินธุ์ยิ้ม! รวมกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกผักหลากชนิด ต้นทุนต่ำ/รายได้ดีกว่าทำนาปรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทาน เขื่อนลำปาว หันมารวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ ปลูกผักหลายชนิด ซึ่งสามารถขายผลผลิตได้ต่อเนื่อง รายได้ดีกว่าปลูกข้าวนาปรัง
กาฬสินธุ์-ชาวบ้าน 3 ตำบลอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ในพื้นที่เขตชลประทานเขื่อนลำปาว พลิกผืนนาปรังฤดูแล้งหันมารวมกลุ่มแปลงใหญ่ ทำเกษตรสู้ภัยแล้ง ร่วมกันปลูกผักปลูกผักผสมผสานทั้งแตง ฟักทอง ถั่วลิสง มะเขือ ถั่วฝักยาว เก็บผลผลิตต่อเนื่อง ขายได้ทั้งยอด ดอก ผล สร้างรายได้เดือนละกว่า 15,000 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว (เขื่อนลำปาว) เขตต.ลำคลอง ต.ลำปาว และต.บึงวิชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ในช่วงหน้าแล้งปีนี้ ได้ปรับการทำเกษตรจากการปลูกข้าวนาปรัง หันมารวมกลุ่มปลูกพืชผักสวนครัวผสมผสาน “แปลงใหญ่” สร้างร้ายได้ตลอดปี โดยปลูกพืชฤดูแล้งอายุสั้น ใช้น้ำน้อย อายุ 3-4 เดือนเก็บผลผลิตได้ เช่น พืชกระกูลแตง ฟักทอง บวบ ข้าวโพด ถั่วลิสง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว สามารถเก็บขายได้ทั้งส่วนของยอด ใบ ดอก ผล รายได้อย่างน้อยวันละ 300 บาท ตกเดือนละ 15,000 บาททีเดียว

นายสมจิตร จันทะรัง อายุ 54 ปี เกษตรชาวบ้านหาดทอง ต.ลำคลอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่าเดิมตนเคยไปทำงานรับจ้างทั่วไปและขับวินมอเตอร์ไซค์ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลานับ 20 ปี พักหลังรายได้ไม่แน่นอน ขณะที่รายจ่ายประจำวันสูงมาก จึงคิดว่ากลับมาตั้งหลักทำการเกษตรที่บ้านดีกว่า เพราะมีช่องทางทำมาหากินมากมาย ไม่มีวันอดตายหากขยัน ทั้งมีความพร้อมในด้านที่ทำกินและแหล่งน้ำจากคลองชลประทานเขื่อนลำปาว

พื้นที่เขต ต.ลำคลอง ต.ลำปาว และต.บึงวิชัย อยู่ในทำเลดี มีแหล่งน้ำ จึงเป็นแหล่งปลูกพืชผักสวนครัวตลอดปี ผลผลิตจำหน่ายในตลาดชุมชน มีพ่อค้าแม่ค้าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่มารับซื้อถึงที่ นำส่งตามตลาดสด ตลาดไทย และตลาดทั่วไป ถือเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ หรือแหล่งผลิตพืชผักกลุ่มใหญ่ที่สุดในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ สำหรับตนซึ่งมีแรงงานคนเดียว ใช้พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ปลูกข้าวโพด และฟักทอง โดยฤดูแล้งปีนี้ปลูกข้าวโพด 3 รุ่น และฟักทอง 2 รุ่น ช่วงกำลังติดดอกออกผล สามารถเก็บผลผลิตขายได้ทุกวัน เช่น ผลผลิตของฟักทองเก็บขายได้ทั้งยอด ดอก และผล




“ดอกฟักทองนั้น นิยมลวกจิ้มน้ำพริก หรือเป็นเครื่องเคียงต้มซุป แกงอ่อม รสชาติหวาน มัน อร่อย โดยจะเก็บดอกตัวผู้ไปขายในหมู่บ้าน 30 ดอก/มัด ขายมัดละ 10 บาท มีรายได้วันละ 200-300 บาท ส่วนผลนิยมเก็บผลแก่ขายในราคา กก.ละ 15 บาท หรือบรรจุถุงขายถุงละ 10 กก.ราคา 150 บาท ข้าวโพดก็ขายทั้งฝักดิบและต้มสุก 3 ฝักราคา 20 บาท หากปีนี้ได้กำไรดี ฤดูแล้งปีหน้าก็จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก และเพิ่มพืชผักให้หลากหลายขึ้น เพราะทำง่าย ไม่ยุ่งยาก ได้อยู่กับครอบครัว” นายสมจิตรกล่าว

ด้านนายเลิง บุญมา อายุ 54 ปี เกษตรกรบ้านโนนตูม กล่าวว่าฤดูแล้งทุกปีตนเคยทำนาปรัง ประสบปัญหาต้นทุนสูง ทั้งค่ารถไถ ค่าปุ๋ยเคมี ค่ารถเกี่ยว ราคาขายข้าวเปลือกตกต่ำไม่คงที่ขาดทุนทุกปี บางปีประสบปัญหาภัยแล้งต้นข้าวเกิดโรคระบาดก็ยิ่งขาดทุนและเสียโอกาส อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นเพื่อนเกษตรกรพื้นที่ข้างเคียงปลูกผักแปลงใหญ่รายได้ดีเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา จึงหันมาปลูกพืชผักบ้าง เปลี่ยนแปลงนามาเป็นแปลงปลูกแตงและถั่วลิสง อายุสั้นใช้น้ำน้อย หากประสบภัยแล้งพืชผลก็ไม่เสียหายมากนัก สะดวกสบาย ต้นทุนต่ำ ได้กำไรดีกว่าปลูกข้าวนาปรัง




“ใช้พื้นที่ 2 ไร่ปลูกแตงไทยและถั่วลิสง ทุกวันนี้มีรายได้เก็บแตงไทยขายเฉลี่ยวันละ 300 บาท 1 เดือนมีรายได้ประมาณ 15,000 บาท บวกลบต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ดีกว่าทำนาปรังและปลูกพืชชนิดอื่น ที่สำคัญไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยคอกบำรุง ใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ พืชผลก็เจริญเติบโตให้ผลผลิตสูงต้นทุนต่ำ ทุกวันนี้มีรายได้ทั้งเดือน ทั้งนี้ในส่วนของการปลูกพืชผักหลากหลายของกลุ่มเกษตรกร 3 ตำบล ยังถือเป็นการเอาชนะภัยแล้ง เพราะเป็นพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย ต้านทานโรค ที่สำคัญรายได้ดีกว่าปลูกข้าวนาปรังหลายสิบเท่าก็ว่าได้” นายเลิงกล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น