จันทบุรี - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่จันทบุรี ติดตามโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร พร้อมติดตามการแก้ไขปัญหาการใช้สาร BY-2
วันนี้ (13 มี.ค.) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อตรวจราชการและมอบนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำและภาคการเกษตร รวมทั้งติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน โดยมีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำส่วนราชการให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน จ.จันทบุรี ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาแหล่งเก็บกักน้ำที่มีไม่เพียงพอ แม้จะเป็นจังหวัดที่มีภาคเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งหนึ่งโครงการสำคัญคือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่คลองวังโตนด ใน อ.แก่งหางแมว ที่มีการขอใช้พื้นที่จำนวน 12,000 ไร่ และได้รับการอนุมัติให้ใช้พื้นที่แล้ว 2,600 ไร่
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง จำนวน 5,791 ไร่ รวมทั้งขอเพิกถอนอุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น 6,191 ไร่ ภายใต้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 6,400 ล้านบาท และมีกำหนดการก่อสร้างในปี 2569-2573
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เน้นย้ำว่า โครงการอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเป็นไปได้สูง ซึ่งหลังจากนี้จะต้องหารือเพิ่มเติมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือ เนื่องจากรัฐมนตรีทรัพยากร เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงเกษตร จึงเชื่อว่าจะเข้าใจถึงความจำเป็นในการบริหารจัดการน้ำ
“ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมอีกครั้งโดย กรมชลประทานจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจงถึง เหตุผลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ยังไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้
ด้าน นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรสวนทุเรียน และติดตามปัญหาการใช้สารบีวายทู (BY-2) ซึ่งเป็นสารต้องห้ามที่ทางการจีนเข้มงวดในการตรวจสอบ พร้อมระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงไปมากแล้ว และทางการจีนรับทราบว่าปัญหาเกิดจากเกษตรกรบางรายเท่านั้นและไม่ใช่จากผู้ประกอบการทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่ยังคงฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามมาตรการที่เข้มงวด รวมทั้งอาจมีคำสั่งปิดสวนหรือห้ามส่งออกได้