เชียงใหม่ - ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ประชุมร่วม 7 หน่วยงานหลัก วางแผนเตรียมพร้อมการใช้อากาศยาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานปฏิบัติการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่าภาคเหนือ หลังคาดแนวโน้มสถานการณ์เสี่ยงทวีความรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงกลางเดือน เม.ย. 68
วันนี้ (13 มี.ค. 68) ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า (ศอ.ปกป.ภาค 3 สน.) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พลตรี ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้าจัดประชุมการใช้อากาศยานจาก 7 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ MI-17 จากกองทัพบก, อากาศยาน BT-67 (กองทัพอากาศ), อากาศยาน KA -32 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, เฮลิคอปเตอร์จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, หน่วยบินตำรวจเชียงใหม่ รวมทั้งเครื่องบินจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หน่วยโดรนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำงานในห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเป็นไปอย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่มากที่สุด คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมไปจนถึงกลางเดือนเมษายน
ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ได้เน้นย้ำหน่วยควบคุมอากาศยานที่จะออกปฏิบัติการดับไฟป่าในแต่ละพื้นที่ จะต้องประสานงานกับหน่วยภาคพื้นดินให้ชัดเจนสอดคล้อง ชี้จุดให้ตรงเป้าหมาย เพื่อดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ การปฏิบัติงานแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของนักบิน อากาศยาน และทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังได้ขอให้นำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบ hotspot ให้ชัดเจนก่อนอนุมัติใช้อากาศยาน เพราะแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณสูง เช่น การใช้โดรนตรวจจับความร้อน และแอปพลิเคชัน Fire Man ที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะช่วยแจ้งเตือนจุดที่เจ้าหน้าที่ดับไฟเข้าไปปฏิบัติงานอยู่
อย่างไรก็ตาม วันนี้เป็นวันแรกของการปรับแผนปฏิบัติงานในการใช้อากาศยาน ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า หลังกองทัพอากาศได้นำอากาศยาน peacemaker เข้ามาเสริมกำลังในการบินลาดตระเวนตรวจสอบจุดความร้อนแบบ real time ทุกวันในช่วงเช้า เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของดาวเทียม โดยจะรายงานสถานการณ์จุดความร้อนที่รุนแรงให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอสนับสนุนการใช้อากาศยานเข้าดับไฟ ซึ่งจะช่วยให้ได้พิกัดดับไฟที่ชัดเจน และดับไฟได้เร็วก่อนลุกลามขยายวงกว้างยากต่อการดับ