ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่นเผยรถไฟฟ้าระบบรางพร้อมทดสอบวิ่งรถไฟฟ้าระบบราง มิ.ย.ปีนี้ เล็งขยายผลขอรับการสนับสนุนงบจาก อว.เนรมิตรางรถไฟชมเมืองรอบบึงแก่นนคร ชี้แนวโน้มบุคลากรด้านระบบรางมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น รองรับโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
วันนี้ (12 มี.ค.) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) วิทยาเขตขอนแก่น นายปริญ นาชัยสิทธิ์ อดีตรองอธิการบดีฯ ประจำวิทยาเขตขอนแก่น และที่ปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้าภายใน มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อเตรียมทดสอบระบบขบวนรถไฟฟ้า LRT และระบบรางรถไฟ ซึ่งคิดค้นและจัดทำขึ้นด้วยทีมนักวิจัยของประเทศไทยล้วน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวางระบบรางในระยะทางรวมกว่า 400 เมตร
นายปริญ นาชัยสิทธิ์ ที่ปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.วิทยาเขตขอนแก่น ระบุว่า โครงการวิจัยระบบรางฯ ดังกล่าวแยกออกเป็น 3 ส่วน เริ่มจากการวิจัยขบวนรถไฟฟ้า LRT ซึ่งได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้จนได้รับความเสียหาย แต่ทีมงานนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ และนักศึกษาได้ช่วยกันทำการวิจัยให้ขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าวนั้นกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นขบวนใหม่รวม 3 โบกี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งระบบในเดือน พฤษภาคม 2568 เช่นเดียวกันกับแผนงานต่อเนื่อง คือการจัดวางระบบรางรถไฟภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสภามหาวิทยาลัยฯ วางรางรถไฟฟ้าระยะทางรวมกว่า 400 เมตร ความกว้าง 1.435 เมตร งบประมาณราว 7 ล้านบาท
โดยเป็นการวางระบบรางที่จะใช้ในการทดสอบขบวนรถไฟฟ้า LRT ที่จัดสร้างพร้อมกันอยู่ในตอนนี้ การวางรางน่าจะเสร็จในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน คาดว่าจะเปิดใช้งานและทดสอบระบบได้พร้อมกันในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2568 ของมหาวิทยาลัยฯ พอดี อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบขบวนรถไฟนั้นจะต้องใช้ความยาวมากกว่านี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้เสนอโครงการแบบต่อเนื่อง กับกระทรวง อว.เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัย เป็นโครงการรถไฟรอบบึงแก่นนคร ระยะทาง 4 กม.เพื่อใช้ในการทดสอบตามมาตรฐานของรถไฟฟ้าที่เป็นสากลทั้งระบบ เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมและใช้ในระบบการจัดการเรียนการสอน การซ่อมบำรุงขบวนรถและระบบราง รวมทั้งอาณัติสัญญาณต่างๆ
นายปริญกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีการเปิดหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนหลักสูตรระบบรางเพื่อรองรับการพัฒนาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่กำลังเป็นที่สนใจ, โครงการรถไฟทางคู่ของ รฟท. และโครงการรถไฟฟ้าในเมือง หรือแม้กระทั่งโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ซึ่งทุกโครงการมีความต้องการในด้านของกำลังคนที่สูงมาก จึงเป็นสิ่งที่ทุกมหาวิทยาลัยได้มีการนำเรื่องระบบรางในภาคส่วนต่างๆ มาจัดการเรียนการสอน เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการตลาดงาน