มุกดาหาร - ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเดินหน้ารับมือวิกฤตภัยแล้ง โชว์ “มุกดาหารโมเดล” เริ่มต้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายตอนบน เผยบูรณาการทุกภาคส่วนบริหารจัดการน้ำ สูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน นำไปช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ขาดแคลน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดมุกดาหารเผชิญกับสภาพอากาศร้อนแห้งแล้ง ส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินลดลง ปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอ หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ล่าสุดนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเน้นการบริหารจัดการน้ำเชิงรุกผ่าน “มุกดาหารโมเดล” ซึ่งมุ่งเน้นนำน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนมากักเก็บไว้ในอ่างสำรอง เพื่อกระจายให้ประชาชนและเกษตรกรได้ใช้อย่างเพียงพอ
ล่าสุด นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานเปิดระบบสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งน้ำไปยังสระน้ำขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าไร่ ขนาด 20 ไร่ มีความจุ 64,680 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือประชาชนได้กว่า 400 ครอบครัว หรือประมาณ 1,500 คน และยังช่วยให้พื้นที่เกษตรกรรมหลายพันไร่มีน้ำใช้เพาะปลูกพืชหน้าแล้ง ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
การดำเนินงานครั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารได้รับการสนับสนุนจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 นำรถสูบน้ำสมรรถนะสูงที่สามารถสูบน้ำระยะไกล ร่วมกับหน่วยงานบูรณาการ ได้แก่ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 24 (นพค.24), กอ.รมน. และองค์กรบริหารส่วนตำบลป่าไร่ ทำการขุดลอกอ่างเก็บน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ
จังหวัดมุกดาหารมีพื้นที่การเกษตรกว่า 1 ล้านไร่ แต่ช่วงฤดูแล้งสามารถทำการเกษตรได้เพียง 50,000 ไร่ เนื่องจากขาดแคลนน้ำ การสูบน้ำจากแหล่งต้นทุนเพื่อส่งต่อให้เกษตรกรจึงเป็นมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งอ่างเก็บน้ำห้วยทรายตอนบน จะเข้ามาเติมเต็มเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าแล้ง
“จากการประเมินเบื้องต้น หากดำเนินการสูบน้ำต่อเนื่อง 7-8 วัน ปริมาณน้ำในอ่างจะเต็มความจุที่ 150,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร หากโมเดลนี้ประสบผลสำเร็จ จังหวัดมุกดาหารจะขยายแนวทางนี้ไปยังพื้นที่อื่นที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยจะสำรวจจุดที่มีแหล่งน้ำต้นทุนและแหล่งน้ำกักเก็บ เพื่อนำน้ำจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง กระจายแหล่งน้ำให้ทั่วถึง ช่วยพี่น้องเกษตรกรให้สามารถทำเกษตรได้แม้ช่วงฤดูแล้ง” นายวรญาณกล่าว
ทั้งนี้ ประชาชนยิ้มได้ น้ำหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชน และภาคเกษตรกรรม เกษตรกรในพื้นที่ต่างแสดงความดีใจที่ปีนี้พวกเขามีน้ำสำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภค ถือเป็นความหวังใหม่ในการรับมือกับภัยแล้ง ลดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและอาชีพของคนในพื้นที่