เชียงใหม่ - สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ประกาศจุดยืนชัดเจนไม่เอาด้วยกับมาตรการห้ามเผาเด็ดขาดทุกกรณีของมหาดไทยเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า ตามข้อสั่งการของ “อนุทิน” มท.1 ที่สั่งการบังคับใช้เหมือนกันทั้งประเทศ ชี้ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ แถมเป็นการฉุดเชียงใหม่กลับไปพายเรือในอ่าง ทั้งๆ ที่ทุกภาคส่วนมีความร่วมมือพัฒนามาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและควบคุมการเผาจนเห็นผลดีขึ้นตามลำดับ ขีดเส้นตายจี้ “อนุทิน” รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาทบทวนและให้คำตอบภายในสัปดาห์นี้ หากไม่เป็นผลเตรียมถอนตัวทั้งหมดจากคณะทำงานร่วมกัน
วันนี้ (24 ก.พ. 68) ที่ร้าน Beanbag Coffee ถนนเลียบคลองชลประทาน ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน, สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันจัดเวทีพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแถลงข่าวประเด็นนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่และเสียงสะท้อนคนในท้องถิ่น ซึ่งสืบเนื่องมาจากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงภายหลังการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 68 ให้ทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยในช่วง 3 เดือนนี้ต้องไม่มีการเผาป่า เผาในที่โล่งแจ้ง และเผาซากผลผลิตทางการเกษตร พร้อมประกาศห้ามเผาทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น โดยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบ single command ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ห้ามเผา หากพบการฝ่าฝืนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ สภาลมหายใจเชียงใหม่เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศป่าหลายประเภท ทั้งป่าผลัดใบ ป่าไม่ผลัดใบ และมีการเกษตร เช่น ไร่หมุนเวียนที่ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ไฟแบบควบคุมร่วมกัน ซึ่งเชียงใหม่ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Fire D รองรับเพื่อให้การใช้ไฟจำเป็นส่งผลกระทบน้อยที่สุด เป็นระบบที่ยืดหยุ่นคำนึงถึงการบริหารหลายมิติที่ซับซ้อน และมาตรการดังกล่าวยังขัดแย้งกับการดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่ที่มุ่งเน้นให้มีแผนและปฏิบัติการบริหารจัดการไฟเชิงพื้นที่ ผ่านการแลกเปลี่ยนพูดคุยและหาทางออกต่อปัญหาหมอกควันมาเป็นระยะเวลายาวนาน 5 ปี ที่มีความตั้งใจในการบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชนเพื่อนำไปสู่การควบคุมการใช้ไฟอย่างมีทิศทางในระบบ “Fire D”
ในการจัดเวทีครั้งนี้ทางสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเครือข่าย นำโดยนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ และนางสาววิไลลักษณ์ เยอเบาะ ตัวแทน สชป. ได้ร่วมกันแถลงข่าว “นโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ต้องฟังเสียงคนท้องถิ่น” ระบุว่า ในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศจังหวัด กำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเขตควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีหลักการสำคัญคือให้ทุกพื้นที่ดำเนินการ กำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิง สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงทางการเกษตรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และพื้นที่ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และพื้นที่ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการหยุดยั้งการลุกลามของไฟตามหลักวิชาการ โดยต้องทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงระดับอำเภอ และให้นำข้อมูลลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิงในระบบ Fire-D ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองระดับอำเภอ หรือระดับตำบล(นำร่อง) พิจารณาอนุญาตก่อนดำเนินการพร้อมทั้งให้จัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลาม และรายงานผลการดำเนินงานในระบบ Fire-D ทุกครั้ง ลงวันที่ 29 พ.ย. 67
อย่างไรก็ตาม ข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่มุ่งให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมไฟป่า เพื่อป้องกันการลักลอบการเผา สภาลมหายใจเชียงใหม่ และเครือข่ายเห็นว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วประกาศจังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน โดยมิได้ขัดแย้งกับข้อสั่งการของนายอนุทิน แต่ประการใด แต่ช่วยทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักนิติธรรม เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ที่บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน โดยดำเนินการภายใต้ทิศทางและมาตรการบริหารจัดการไฟ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา เชิงรุก มีการยอมรับเรื่องการใช้ “ไฟจำเป็น”และควบคุมการเผา โดยให้ชุมชน หน่วยงานป่าไม้ และท้องถิ่นสามารถขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยผ่านระบบ Fire-D ได้ เพียงแต่วิธีการของศูนย์บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 76 จังหวัด ยังขาดบริบทของความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ และขาดข้อมูลความเป็นมาของท้องถิ่น
นอกจากนี้ การดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมาอย่างน้อย 3 ปี กำลังเดินมาถูกทางแล้วในเรื่องการแยกแยะและบริหาร เป็นมาตรการเชิงรุก ที่เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งเรื่องพื้นที่เผาไหม้ปี 2567 ที่อยู่ในลำดับที่ 5 จาก 9 จังหวัด เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหวัด และค่าความเข้มข้นสูงสุดของ PM 2.5 ในปี 2567 ลดลง โดยวัดค่าได้ 224.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 67 ขณะที่ค่าสูงสุดในปี 2566 วัดค่าได้ 365 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 66 ขณะเดียวกันจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ยังลดลงเหลือ 87 วัน จากปี 2566 ที่มีจำนวน 114 วัน อีกทั้งปัจจุบันยังได้มีการดำเนินการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันในระยะยาว 5 ปีร่วมกันของทุกภาคส่วน ดังนั้นสภาลมหายใจเชียงใหม่ พร้อมเครือข่าย จึงเห็นว่าเพื่อทำให้การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่สามารถปฏิบัติการได้จริง จำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนของคนในท้องถิ่น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงผลกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. นโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่สั่งการโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กระทรวงมหาดไทย ไม่ควรจะเป็นแบบเดียวทั้ง 77 จังหวัด ควรจะคำนึงความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ และมีการปรับให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการในแต่ละจังหวัด โดยในจังหวัดเชียงใหม่ควรยึดตามแนวทางการบริหารจัดการไฟ(Fire Management)โดยมีแผน-ปฏิบัติการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกันของท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานป่าไม้ แยกแยะไฟจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการ และเขตควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ตามประกาศจังหวัด ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567
2. ขอให้มีการทบทวนข้อสั่งการของ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเพื่อให้ไม่ให้ผู้ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชน เจ้าหน้าที่ป่าไม้เกิดความสับสน และสามารถรับมือกับไฟป่า หมอกควันที่กำลังมาถึง
3. ในการดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ควรรับฟังเสียงของท้องถิ่น และผู้ที่ได้รับผลกระทบของพื้นที่เป็นตัวตั้ง
ทั้งนี้ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เร่งทบทวนคำสั่งและมาตรการดังกล่าว เนื่องจากตลอดช่วงเวลานับสิบปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ที่มีการใช้มาตรการห้ามเผาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาชนได้ร่วมมือกันนำมาตรการบริหารจัดการควบคุมการเผาอย่างมีระบบมาใช้เพื่อจัดการเชื้อเพลิง พบว่าได้ผลดีขึ้นตามลำดับ และสามารถพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ ดังนั้นหากกลับไปใช้มาตรการห้ามเผาทุกกรณีอย่างเด็ดขาดตามข้อสั่งการ จะไม่ต่างอะไรกับการเดินถอยหลังหรือกลับไปพายเรือในอ่างเหมือนเดิม โดยอยากย้ำเห็นด้วยกับการห้ามเผาที่ไม่จำเป็นและไร้การควบคุม แต่ไม่ใช่การห้ามเผาทุกกรณีอย่างไม่มีเหตุผลและไม่พิจารณาถึงความจำเป็นเลย ทั้งนี้ ให้เวลารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เร่งพิจารณาทบทวนยกเลิกมาตรการดังกล่าวในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เช่นนั้นแล้วทางสภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายภาคประชาชนจะขอถอนตัวทั้งหมดจากการเป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่าร่วมกับหน่วยงานราชการของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะคงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้แล้ว