ประจวบคีรีขันธ์ - อธิบดีกรมศิลปากร และกรมอุทยานฯ จับมือร่วมแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดิน พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบฯ เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด บ้านพุใหญ่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยมี นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายนพพร ประทุมเหง่า ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบรี นายนายพิศิษฐ์ เจริญสุข หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟัง พร้อมการจัดแสดงโบราณวัตถุบางส่วนที่ได้จากการขุดค้นพบภายในแหล่งโบราณคดีถ้ำดิน และการจัดแสดงภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน
ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ดำเนิน "โครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน" ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในอนาคต โดยพบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินเก่า-สมัยหินกลาง กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ได้ประมาณ 29,000 ปีมาแล้ว
ภายในถ้ำดินซึ่งแบ่งออกเป็น 5 คูหา ทุกคูหามีร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ในอดีต และมี 3 คูหาที่พบภาพเขียนสี นั่นคือคูหาที่ 1 พบภาพเขียนสีบริเวณผนังและเพดานถ้ำจำนวนมาก เขียนด้วยสีแดง ส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคล บางคนมีเครื่องประดับร่างกาย อยู่ในท่ากางแขนขาคล้ายกระโดด หรือกำลังเต้นรำ มือด้านขวาคล้ายถือสิ่งของอยู่ บางคนอยู่ในท่าคล้ายง้างคันธนูกำลังล่าสัตว์ ภาพเขียนรูปสัตว์ที่สามารถแปลความได้ มีสัตว์ตระกูลเก้ง กวาง ลิง สัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น
ส่วนคูหาที่ 2 ทอดยาวลึกต่อจากคูหาแรก พบภาพเขียนสีบริเวณผนังถ้ำอยู่ในระดับสายตา และระดับต่ำใกล้กับพื้นดิน เขียนด้วยสีแดง ยังไม่สามารถดีความได้ว่าเป็นภาพอะไร และคูหาที่ 3 พบภาพเขียนสีบริเวณผนังถ้ำด้านในเกือบทั้งแนว อยู่ในระดับสายตา และพบในระดับใกล้กับพื้นดินด้วย ภาพเขียนด้วยสีแดง เป็นภาพบุคคล ภาพสัตว์ และบางภาพไม่สามารถอธิบายได้ โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปีงบประมาณ 2565-2566 ประกอบด้วย กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เมล็ดพืช และหิน
และในปีงบประมาณ 2567 พบหลักฐานสำคัญในระดับความลึกที่ 190-195 เซนติเมตร จากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน เป็นหลักฐานการฝังศพโครงกระดูกจำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้น โครงกระดูกมนุษย์ที่ระดับความลึกประมาณ 2 เมตรจากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน พบจำนวน 1 โครง ฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว โดยวางร่างยาวขนานกับผนังถ้ำ หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ แขนค่อนข้างแนบลำตัว ปลายเท้าชิดกันแสดงถึงร่องรอยการมัดหรือห่อศพก่อนฝัง โครงกระดูกมีขนาดเล็ก ผิวกระดูกสีน้ำตาลแดงมีคราบขี้เถ้าติดอยู่บนผิวกระดูก แขนท่อนล่างพบร่องรอยเส้นใยพืชทับอยู่บนผิวกระดูก จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุเมื่อตายอยู่ในช่วงประมาณ 6-8 (พิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ขึ้นแล้ว)
จากหลักฐานที่พบและการจัดวางศพ แสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีกรรมการฝังศพ โดยหลุมศพนี้มีการเตรียมพื้นที่ก่อนการนำศพมาวาง ศพมีการมัดหรือห่อด้วยเส้นใยพืช เมื่อวางศพแล้ว มีการนำหินหลายขนาดมาวางทับบนตัวศพ โดยหินขนาดใหญ่และขนาดกลางวางอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ศีรษะ หน้าอก ท่อนขา และปลายเท้า จากนั้นน่าจะมีการก่อกองไฟเพื่อรมควันศพ สันนิษฐานว่าเพื่อเป็นการไล่สัตว์ร้าย ดับกลิ่นหรือฆ่าเชื้อโรคที่เกิดจากศพ โดยพบก้อนขี้เถ้าและถ่านขนาดเล็กจำนวนมากปนแทรกอยู่ในชั้นดินที่อยู่ร่วมกับโครงกระดูก อีกทั้งสภาพของโครงกระดูกเองก็แสดงถึงการได้รับความร้อน แต่มิใช่เป็นการเผาศพ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นในขณะนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำดินเมื่อประมาณ 20,000 กว่าปีมาแล้ว มีความเกี่ยวโยงเป็นเจ้าของภาพเขียนสีที่พบภายในถ้ำ และตามเพิงผาในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งขณะนี้กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่จะวิเคราะห์ค่าอายุภาพเขียนสีโดยตรงต่อไป
สำหรับหลักฐานของโครงกระดูกมนุษย์ที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ นับเป็นโครงกระดูกมนุษย์ปัจจุบัน (Homo sapiens) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและยังพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย จัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) เทียบได้กับยุคทางธรณีกาลคือ สมัยไพลสโตซีน (ยุคน้ำแข็ง) ตอนปลาย (125,000-11,700 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นช่วงที่มีธารน้ำแข็งปกคลุมพื้นโลกมากกว่าปัจจุบัน ระดับน้ำในทะเลลดต่ำลงกว่าปัจจุบันมาก
โดยยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 24,000-18,000 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น และระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าปัจจุบันนี้มากกว่า 100 เมตร ส่งผลให้บริเวณอ่าวไทยเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมต่อถึงอินโดนีเซีย การพบหลักฐานการอยู่อาศัยและการฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในช่วงยุคดังกล่าวในพื้นที่อ่าวไทยบริเวณชายฝั่งตะวันตกของประเทศไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยอธิบายวิถีการดำรงชีวิตและการปรับตัวของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในอดีต และหวังว่าการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้ภาพเรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และอาจเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้านนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากในการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ในพื้นที่ถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โดยกรมศิลปากรนั้นถือเป็นความร่วมมือของกรมศิลปากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีอุทยานแห่งชาติ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้ง อช.กุยบุรี อช.หาดวนกร และอช.เขาสามร้อยยอด ซึ่งในอนาคตคงต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ทางกรมอุทยานแห่งชาติ จะนำจุดนี่มีการพบที่ถ้ำดิน มาเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติเชื่อมโยงระหว่างแหล่งถ้ำดินที่ขุดค้นพบ และอาจสำรวจด้วยว่าด้านบนจะมีจุดชมวิวที่เหมาะสมด้วยหรือไม่ คงต้องมีการหารือพูดคุยกันต่อไปกับทางกรมศิลปากร
ขณะเดียวกัน นายนายพิศิษฐ์ เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่าขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ อช.เขาสามร้อยยอด จัดกำลังบริเวณทางขึ้นถ้ำดินจัดแบ่งเป็น 2 ชุด ทั้งกลางวันและกลางคืน ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่รับอนุญาตขึ้นไปในถ้ำดิน เนื่องจากยังคงมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้านใน รวมทั้งชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ยังคงอยู่ภายใน