จันทบุรี - กรมวิชาการเกษตร จัดมหกรรม Big Cleaning Day ทุเรียนภาคตะวันออก ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทุเรียนไทย พร้อมมอบใบประกาศแก่ผู้ผ่านมาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 ส่งเสริมสุขอนามัยในอุตสาหกรรมทุเรียนไทยรับฤดูผลผลิตออกสู่ตลาด
วันนี้ (24 ก.พ.) นายรพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทุเรียนและมังคุด รวมทั้งผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุในพื้นที่ จ.จันทบุรี ระยอง ตราด และเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ทุเรียนภาคตะวันออก ณ ห้องเย็นเกาฟง ตลาดทุเรียนจันท์ โรงคัดบรรจุเกาฟง และโรงคัดบรรจุรอบบริเวณ ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของทุเรียนไทย สอดคล้องกับมาตรการควบคุมคุณภาพเพื่อการส่งออก รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียนส่งออกและเกษตรกร ในการป้องกันการปนเปื้อนสาร BY2 ในทุเรียนผลสดก่อนเปิดฤดูกาลทุเรียนตะวันออก
กิจกรรมภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรม Big Cleaning Form farm และกิจกรรม Big Cleaning Form Packing House แล้ว ยังมีการมอบใบประกาศ Big Cleaning Form Packing House กิจกรรมปล่อยขบวนรถ Big Cleaning และ Big Cleaning ตามมาตรการป้องกันสารปนเปื้อน Basic Yellow 2 หรือ BY2
สำหรับกิจกรรม big cleaning day แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือกิจกรรม Cleaning day ในสวนทุเรียน ซึ่งเกษตรกรต้อง “ตรวจพร้อมตัด จัดระเบียบสวน กระบวนการผลิตปลอดภัย มั่นใจคุณภาพทุเรียนไทย” ด้วยการตรวจความพร้อมตัด ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ ใบ และผล เข้าตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารแคดเมียม และ Basic Yellow 2 (BY2)
รวมทั้งการจัดระเบียบสวนตามมาตรฐาน GAP 8 ข้อกำหนด เพื่อให้กระบวนการผลิตปลอดภัย งดการใช้สารต้องห้ามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด งดพ่นสารที่มีสีผสมมา หรือเนื้อสารที่มีสีเหลืองจัด ลดปัญหาการเกิดคราบบนผลผลิต
และกิจกรรม Cleaning Day ของโรงคัดบรรจุ ทุกโรงคัดบรรจุทุเรียนต้องปฏิบัติการ Big Cleaning ตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสารตกค้าง Basic Yellow2 ก่อนเปิดดำเนินการ โดยไม่ใช้สีทุกชนิด ในกระบวนการผลิตทุเรียนสด ห้ามใช้สารห้ามใช้ในกระบวนการผลิตทุเรียนสด
เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสีย้อม เช่น พาเลท ภาชนะบรรจุ ตะกร้า กะละมัง มีด ทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น พัดลม และบริเวณผลิตก่อนและหลังการผลิต น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องสะอาด ทำความสะอาดตู้คอนเทนเนอร์ก่อนการบรรจุทุกครั้ง การสุ่มเก็บตัวอย่าง และการขนส่งไปยังห้องปฏิบัติการต้องสามารถป้องกันการปนเปื้อนข้าม กล่องกระดาษบรรจุตัวอย่าง ต้องปิดช่องให้สนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามระหว่างตัวอย่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุภาคตะวันออก ได้เริ่มทำ Big Cleaning มาตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้วจำนวน 35 แห่ง และคาดว่าหลังจากนี้จะมีจำนวนโรงคัดบรรจุที่ทำกิจกรรม Big Cleaning มากขึ้นเรื่อยๆ และหลังจากนี้ กรมวิชาการเกษตร จะเข้าตรวจสอบด้วยการ Swop ตรวจเช็กผลการปนเปื้อน และดำเนินการตรวจประเมินตามมาตรการ
ซึ่งหากโรงคัดบรรจุใดผ่านการตรวจสอบจะได้รับเอกสารรับรองการดำเนินงานมาตรการ Big Cleaning ก่อนเริ่มการผลิตทุเรียนส่งออก
ขณะที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ร่วมใจ ร่วมมือ Set Zero ยกระดับคุณภาพทุเรียนไทย ตามมาตรการ 4 ไม่คือ 1.ไม่อ่อน ไม่ตัด ไม่ซื้อ ไม่ขาย ทุเรียนอ่อน 2.ไม่หนอน ปราศจากการทำลายของศัตรูพืช (เพลี้ย หนอน เชื้อรา)
3.ไม่สวมสิทธิ ไม่อ้างใช้ใบรับรอง GAP GMP DOA ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 4.ไม่มีสี ไม่มีสาร ไม่ใช้สีทุกชนิด ห้ามใช้สารห้ามใช้ในกระบวนการผลิตทุเรียนสด เพื่อรักษาคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยทุเรียนไทย และสร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้า