ตราด - ประธาน กมธ.ทรัพย์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ตราด จันทบุรี ตรวจสอบการบุกรุกป่า เขาและพื้นที่อ่างเก็บน้ำรวมหลายร้อยไร่ของกลุ่มนายทุนเพื่อทำสวนทุเรียน แนะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจทำสำนวนเอาผิดร้ายแรงเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังก่อนพื้นที่ป่าไม่เหลือถึงลูกหลาน
จากกรณีที่มีการบุกรุกพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด เพื่อทำสวนทุเรียน มะละกอ และสวนกล้วยของกลุ่มนายทุนทั้งชาวไทยและกลุ่มทุนจีนสีเทา ในพื้นที่กว่า 100 ไร่ ขณะที่บางจุดยังพบว่ามีการปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย จนทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานตราด ต้องเดินหน้ายึดคืนพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และเน้นย้ำว่าพื้นที่สาธารณะไม่สามารถแอบอ้างนำมาซื้อขายกันได้นั้น
วันนี้ (22 ก.พ.) นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด เพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองห้วยแร้ง อ.บ่อไร่ หลังมีกระแสข่าวว่าเป็นการบุกของกลุ่มทุนจีนสีเทาเพื่อปลูกสวนทุเรียนมานานกว่า 3 ปี โดยมี นายพีระ เอี่ยมสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรอให้การต้อนรับ พร้อมกลุ่มชาวบ้านที่ทำกินอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าว
โดยประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ เผยว่าการเดินทางลงพื้นที่ จ.ตราด ในวันนี้เพื่อต้องการรับทราบข้อมูลเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนทุเรียนของกลุ่มนายทุนทั้งในพื้นที่ จ.ตราด และจันทบุรี พร้อมยอมรับว่าปัญหาจีนเทาที่เข้ามาบุกรุกที่ดินทั้งในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ป่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่าจริงจัง และรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลรวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน
ส่วนการร้องเรียนเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้บนเขาบ่อทอง จ.จันทบุรี ซึ่งมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองจันทบุรี ว่าได้ทำการขยายผลและแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว 6 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมอยู่ด้วย รวมทั้งยังพบว่ามีการครอบครองที่ดินบนเขาบ่อทอง ของกลุ่มทุนจีนมากถึง1,800 ไร่
“พวกเราตกใจว่ามีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร วันนี้จึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมาธิการกฎหมายและกรรมาธิการยุติธรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องช่วยติดตามแก้ปัญหา และตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ รวมทั้งจะต้องเร่งตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่สาธารณะในจังหวัดจังหวัดอื่นๆด้วย”
ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ ยังเผยอีกว่าจากการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ในเขตชลประทานตราด พบว่ามีมานานนับ 10 ปี และชลประทานตราด ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2549 แต่เนื่องจากกฎหมายชลประทานมีโทษเบา จึงทำให้ปัจจุบันยังมีกลุ่มนายทุนกล้าบุกรุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2565-2566 ที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้มากถึง 20 คดี
“เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่เบาเกินจึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว เราจึงแนะนำให้ใช้ยาแรง รวมทั้งให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ คู่กับการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ชลประทาน ที่เมื่อตรวจสอบพบกลุ่มทุนบุกพื้นที่จะต้องมีการประกาศให้รื้อถอนทันที รวมทั้งกำหนดให้มีการใช้อำนาจตัดต้นทุเรียนของกลุ่มนายทุนที่บุกรุกออกไป เพื่อให้สำนักงานชลประทาน ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อทำการปลูกป่าทนแทนต่อไป”
นายชีวะภาพ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ ยังเผยถึงการบุกรุกพื้นที่เขาเพื่อทำสวนทุเรียนนับ 100 ไร่ของกลุ่มนายทุนใน จ.จันทบุรี ที่มีการทำเรือแพที่สามารถสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปใช้ว่า ขอแนะนำให้ตำรวจทำการสอบสวนและหาหลักฐานที่หนาแน่น รวมทั้งพยานบุคคลที่เป็นแรงงานเพื่อให้สามารถขยายผลการจับกุมจนสามารถนำสู่การสั่งฟ้องของศาลได้ และหากรู้ว่ากลุ่มที่ครอบครองเป็นกลุ่มทุน นายอำเภอ รองผู้ว่าฯ หรือ ผู้ว่าฯ จะต้องประกาศยึดพื้นที่เพื่อให้สามารถตัดต้นไม้หรือต้นทุเรียนได้เช่นกัน
“ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ชลประทานตราด ถูกวางยาจนเสียชีวิตที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาการบุกรุกที่ดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสอบสวนหารายละเอียด เพราะหากเป็นเรื่องจริงก็แสดงให้เห็นว่ามีผู้อิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง” ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าว