นครปฐม - นครปฐมจัดงานบุญเดือนสามข้าวหลามนครปฐม และโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเสริมสร้าง Soft Power ไทยยั่งยืน เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีบุญเดือนสามของคนไทยเชื้อสายไทยลาวจังหวัดนครปฐม ตลอดจนฟื้นฟูประเพณีตักบาตรข้าวหลามของจังหวัดนครปฐม
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่ศาลากองอำนวยการ องค์พระปฐมเจดีย์ น ส.อโรชา นันทมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานงานบุญเดือนสามข้าวหลามนครปฐม และโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมเสริมสร้าง Soft Power ไทยยั่งยืน โดยมีนางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญพาด ฆังคะมะโน คณบดีคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ คณะกรรมการจัดงานสืบสานประเพณี ไทยลาว บุญเดือนสามข้าวหลามนครปฐม เครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมพิธี
ซึ่งวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยตำบลลำเหย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และเครือข่ายทางวัฒนธรรม ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีบุญเดือนสามของคนไทยเชื้อสายไทยลาวจังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะ และธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ตลอดจนฟื้นฟูประเพณีตักบาตรข้าวหลาม และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้านทัศนศิลป์ของนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสชื่นชมและภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาติ และผลักดัน Soft Power ของไทยให้เป็นที่แพร่หลายและยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการขยายเครือข่ายการทำงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมในจังหวัดนครปฐม
นายอนวัช นกดารา ประธานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยตำบลลำเหย ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีคนไทยเชื้อสายลาวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานนานนับร้อยปี มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ประเพณีบุญเดือนสามของชาวไทยเชื้อสายลาวจะมีการทำบุญตักบาตร ในวันมาฆบูชา หรือเพ็ญเดือนสาม นอกจากอาหารหวานคาวทั่วไปแล้ว ขนมหวานที่ทุกครัวเรือนจะต้องนำไปถวาย คือ ข้าวหลาม ที่ทำจากข้าวเหนียวใหม่ ปรุงด้วยกะทิ เกลือ และน้ำตาลเล็กน้อยอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหลามไทยลาว ปัจจุบันการทำข้าวหลามในงานบุญเดือนสามลดน้อยลงอย่างมาก หรือไม่มีการทำข้าวหลามในบางชุมชนแล้ว ทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารใกล้จะสูญหาย จึงได้รวมกันจัดงานดังกล่าวขึ้น
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย รวมพลคนทำข้าวหลามของเครือข่ายชาติพันธุ์ไทยลาว การเสวนาว่าด้วยข้าวหลามนครปฐม การตักบาตรข้าวหลาม การฟ้อนสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ โดยเครือข่ายนางรำบ้านสวนศิลป์ และกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี สุพรรณบุรี การสาธิตกรรมวิธีและขั้นตอนการออกแบบและพิมพ์ลวดลาย การสาธิตการวาดภาพ และการนำเสนอหีบห่อข้าวหลามลวดลายทวารวดี พิมพ์บนกระดาษสา เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวหลาม จากนักศึกษาคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยมีกำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศาลากองอำนวยการ และลานหน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ องค์พระปฐมเจดีย์