ลดแรงกระแทกสหรัฐฯ นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนเนื้อสัตว์
โดย นฤนาถ พงษ์ธร
การเจรจาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาในยุคนโยบาย ""America Frist" ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นเพียงการต่อรองทางเศรษฐกิจ แต่เป็นศิลปะแห่งการทูตที่ต้องอาศัยกลยุทธ์อันแยบยล การวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในสนามการค้าโลกจึงต้องมีทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์อันกว้างไกล
ล่าสุด สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้เสนอแนวทางเจรจาโดยมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ Win-Win ระหว่างสองประเทศ ที่ไม่เพียงปกป้องผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงอาหารของไทย แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ นั่นคือข้อเสนอในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ประเทศไทยขาดแคลน แทนที่จะนำเข้าเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เพราะการนำเข้าเนื้อสัตว์จะเป็นหายนะของประเทศไทยทั้งในด้านอาชีพเกษตรกรและความปลอดภัยมั่นคงของผู้บริโภค หากไม่มีคนเลี้ยงสัตว์ คนปลูกพืชไร่จะเอาผลผลิตไปขายใคร เรียกว่าเดือดร้อนไปตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร การปกป้องอาชีพเกษตรกรจึงเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ครั้งนี้ที่จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคด้วย
ทางออกที่เหมาะสมคือ การเปิดนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยกำหนดโควตา ควบคุมคุณภาพ และป้องกันไม่ให้กระทบกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวของไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม เพื่อไม่ให้กระทบถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ของไทย การวางแผนอย่างรอบคอบนี้จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยได้ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ
แต่ละปีไทยต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 9.2 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน อีก 4.2 ล้านตันสามารถเปิดตลาดนำเข้าจากสหรัฐได้ รวมถึงข้าวสาลี และกากถั่วเหลือง โดยรัฐต้องจูงใจให้เกิดการนำเข้าด้วยการลดอัตราภาษีกากถั่วเหลืองที่ 2% พร้อมกับกำหนดปริมาณนำเข้าให้เท่ากับปริมาณที่ขาดแคลนในประเทศ รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเช่นเดียวกับสินค้าเมล็ดถั่วเหลือง นับเป็นการตอบสนองความต้องการภายในประเทศ พร้อมๆกับ ช่วยลดการขาดดุลการค้าที่สหรัฐต้องการ นี่จึงเป็นทางออกที่ดูดีและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
อีกข้อที่น่าสนใจคือ การเพิ่มมิติการเจรจาขอนำเข้าเทคโนโลยีทางการเกษตรจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์นโยบาย "America Frist" ได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกัน จะช่วยยกระดับขีดความสามารถภาคเกษตรของไทยให้ก้าวกระโดด การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความหมายมากกว่าการค้าปกติ
การต่อรองครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การเจรจาทางการค้า แต่เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย และสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันอย่างแท้จริง ประเทศไทยต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีคุณค่า ไม่ใช่เพียงแค่คู่ค้าธรรมดาของสหรัฐฯ