xs
xsm
sm
md
lg

พบชาวบ้าน-นายทุนบุกรุกพื้นที่อ่างห้วยแร้ง จ.ตราด ทำสวนทุเรียนกว่า 100 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - ชลประทานตราด เดินหน้ายึดคืนพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ จากกลุ่มนายทุนและชาวบ้าน หลังพบมีการบุกรุกทำสวนทุเรียนนาน 3 ปีกว่า 100 ไร่ ซ้ำบางจุดถึงขั้นปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย ย้ำพื้นที่สาธารณะแอบอ้างซื้อขายไม่ได้

วันนี้ (10 ก.พ.) นายอภิภัทร ลาภอุดม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานตราด พร้อมด้วย ร.ท.พินิจ กิจเพียร ผบ.ร้อย ทพ.นย. (ฐานบ้านเขาพลู) ได้นำทีมงานรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารลงพื้นที่ตรวจสอบริมอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด หลังเพจ Space ป่าตะวันออก ได้แฉว่ามีการบุกรุกที่ดินภายในอ่างเก็บน้ำเพื่อปลูกทุเรียน

เบื้องต้น ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 3 จุด จุดแรกเป็นฝั่งทิ้งใต้ของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีสภาพเป็นพื้นที่เขา และมีการปรับพื้นที่จากสภาพป่าเพื่อปลูกต้นทุเรียน อายุประมาณ 3-4 ปี และเมื่อตรวจสอบพิกัดตามแผนที่ของชลประทานตราด ไม่พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ของชลประทานตราด แต่อาจเป็นการบุกรุกพื้นที่ของหน่วยราชการอื่น ซึ่งจะต้องประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง

จุดที่ 2 ฝั่งทางทิศตะวันตกของอ่าง ซึ่งมีสภาพเป็นพื้นที่เขาและมีเสาหลักปักขอบเขตแสดงพื้นที่ชลประทานตราด ซึ่งในจุดนี้พบว่ามีการบุกรุกปลูกทุเรียน ปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ และยังมีการทำขนำบนเขา 1 หลัง เจ้าหน้าที่จึงเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อดำเนินการตรวจยึดและหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป


เช่นเดียวกับสุดท้ายทางฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าง พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ชลประทานมากเกือบ 100 ไร่ โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มนายทุนรายใหญ่ เนื่องจากสภาพป่าเดิมถูกปรับพื้นที่เป็นสวนทุเรียนทั้งหมด รวมถึงพื้นที่เกาะกลางน้ำ ที่ถูกบุกรุกปรับเป็นสวนทุเรียนทั้งหมดเช่นกัน 

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการก่อสร้างอาคารบ้านพักอีก 2 หลังเพื่อดำเนินกิจกรรมภายในสวนแห่งนี้

นายโอภาส อายุ 55 ปี เจ้าของพื้นที่จุดที่ 2 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง เผยว่าตนได้ปรับพื้นที่ทำการเกษตรมานานกว่า 3 ปีแล้ว พร้อมบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่น้องซื้อเก็บไว้และยังเคยได้รับคำแนะนำจากชลประทานว่าสามารถทำการเกษตรได้ และยืนยันว่าตนไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่บุกรุกซึ่งสุดท้ายหากจะต้องถูกดำเนินคดีเชื่อว่าจะต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่ายก่อนเพื่อหาทางออก เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ชาวบ้านทำเกษตรมานานหลายปีแล้ว




ด้าน นายอภิภัทร ลาภอุดม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานตราด เผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพ่บว่ามีการบุกรุกพื้นที่ชลประทานจริง และในวันนี้ได้ดำเนินการจับจุด GPS และภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อใช้ประกอบเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้บุกรุก และเตรียมเข้าตรวจยึดพื้นที่คืนต่อไป

“ส่วนคำกล่าวอ้างจากชาวบ้านที่อ้างว่าชลประทานตราด อนุญาตให้ชาวบ้านเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ชลประทานได้นั้น ไม่เป็นความจริง และเชื่อว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนของชลประทานตราดจะอนุญาต เพราะพื้นที่สาธารณะต้องเป็นพื้นที่ของส่วนรวม พร้อมขอเตือนประชาชนที่กำลังจะบุกรุกพื้นที่สาธารณะว่าอย่าไปหลงเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้มีการซื้อขายกัน หรือมอบพื้นที่สาธารณะให้ทำกินได้” หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 กล่าว

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง ความจุอ่าง 36.80 ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 39,000 ไร่ ครอบคลุม 15 หมู่บ้าน 5 ตำบล 2 อำเภอ คือ อ.บ่อไร่ และ อ.เมืองตราด






กำลังโหลดความคิดเห็น