พิษณุโลก - ส.ว.ยกคณะดูงาน “วงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป” จัดการขยะ..เผยพิษณุโลกเมืองสองแควล้น ฝัง-เผาไม่ได้ ต้องคัดแยกรีไซเคิล-ทำขยะ RDF ส่งเป็นเชื้อเพลิง พร้อมเดินหน้าแก้กฎหมาย สกัดนำเข้าเศษพลาสติก ปิดช่องโหว่สำแดงเท็จนำเข้าขยะต่างประเทศ
นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา คนที่ 2 พร้อมคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เข้ารับฟังการบริหารจัดการขยะและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนายบุญเหลือ บารมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยนายปรีชา แดงแสงทอง ท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมบรรยายสรุปสุดสัปดาห์นี้
โดยระบุถึงสถานการณ์การบริหารจัดการขยะพร้อมแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว การกำจัดขยะของจังหวัดพิษณุโลก เช่น การจัดหาบ่อขยะใหม่ การสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะของประชาชน การจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะอินทรีย์ การจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะ RDF
ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป กล่าวว่า แนวทางจัดการขยะมี 3 ทางเลือก คือ ฝัง, เผา ซึ่งก็อาจเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อสังคม ฉะนั้นอาจต้องพิจารณาทางเลือกที่ 3 คือนำขยะมาสร้างประโยชน์ เพื่อลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้ทรัพยากรหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ กรณีขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ก็ต้องทำเป็นเชื้อเพลิงทดเเทน หรือขยะ RDF (ขยะเปียกอัดก้อน) ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด ซึ่งบริษัทฯ ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรที่ทันสมัยในกระบวนการบีบอัดจัดเก็บ มีกำลังการผลิต 500 ตัน/วัน
นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองประธานคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา กล่าวว่า จะต้องสร้างกลไกเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเตรียมพร้อมการเติบโตของเมืองพิษณุโลก จะต้องสร้างค่านิยมทุกครอบครัวช่วยลดการเกิดปริมาณขยะ จึงได้พาคณะอนุกรรมาธิการฯ มาดูการบริหารจัดการขยะรีไซเคิลของบริษัทวงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด (สำนักงานใหญ่) ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก ด้วย
สำหรับทางแก้ไขนั้น ก็ทราบว่าขยะเมืองพิษณุโลกมาก ถ้าเผา คนไม่เห็นด้วย ควรเลิกใช้แนวทางนี้ได้แล้ว ส่วนการฝังก็ก่อเกิดมลพิษ มีผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน สรุปต้องใช้วิธีคัดแยกขยะ หากขยะเปียกก็ใช้แนวทาง RDF ขั้นตอนต่อไปจะต้องไปพิจารณาผลักดัน พ.ร.บ.กฎหมายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
พร้อมกับผลักดันรัฐบาลไทยดำเนินนโยบายสกัดการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ เพราะจะทำให้ราคาขยะในประเทศไทยถูกลง ไม่เอื้อ-ไม่สร้างแรงจูงใจในธุรกิจรับซื้อขยะหรือขยะรีไซเคิลในประเทศ มีผลต่อการจ้างงานในท้องถิ่นอีกด้วย ขณะเดียวกัน วุฒิสภากำลังดูแนวทางแก้กฎหมาย หาวิธีสั่งเบรก หรือสั่งห้ามนำขยะเข้ามาในเมืองไทยด้วย
นายอนันต์ พรหมดนตรี ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการ เปิดเผยว่า สนธิสัญญากรุงบัสเซลออกกฎเหล็กห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ประเทศไทยก็สั่งห้าม และอีกหลายประเทศก็ห้าม แต่ที่เห็นปรากฏเป็นข่าว เพราะสำแดงเท็จว่าเป็นขยะรีไซเคิล เศษพลาสติก ซึ่งนำเข้ามาได้ ฉะนั้นจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องไปดูใบอนุญาต 105, 106 ที่บริษัทเอกชนได้รับอนุญาตนั้น กระทำผิดหรือไม่
แต่กรณี จะห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล หรือพลาสติกเก่านั้น ทำได้ไหม? ซึ่งหากกระทำได้ จะต้องไปแก้ไขกฎหมาย ดังแนวทางของ ส.ว.ไพบูลย์กล่าวข้างต้น เพราะทุกวันนี้ยังปล่อยให้ขยะรีไซเคิลเข้าประเทศได้