xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกรุงเก่าผวาหมอกหรือฝุ่น PM2.5 วอนเร่งแก้ไขโดยเร็ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - ชาวกรุงเก่าผวาหมอกหรือฝุ่น PM2.5 แนะใส่หน้ากากป้องกันตัวเองและครอบครัว วอนเร่งแก้ไขโดยเร็ว ขณะสาธารณสุขออกมาเตือนและเป็นห่วงรวมถึงแนะนำวิธีป้องกัน

วันนี้ (24 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าสถานการณ์ในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา สภาพท้องฟ้า ท้องถนนเต็มไปด้วยหมอกฝุ่น มองภาพเลือนราง แต่จากการสังเกตพบว่าพี่น้องประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่มีการตื่นตัว และให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพเป็นอย่างมาก แต่หลายคนกลัวผลกระทบระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้น

นางพรทิพย์ ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากที่เราได้รับทราบข่าวสารตอนนี้กลัวผลกระทบที่เกี่ยวกับร่างกาย เพราะช่วงนี้เช้ามา เราไม่มั่นใจว่าหมอกหรือฝุ่น PM2.5 มากกว่า ถ้าเราสูดหายใจเข้าไปบ่อยๆ สภาพร่างกายเราจะแย่ ห่วงมากในเรื่องนี้ เช้ามาเด็กนักเรียนต้องออกไปโรงเรียนแต่เช้า เป็นอันตรายมากกับเด็กอนาคตจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายเขา ตอนนี้เช้าๆ เราให้เขาใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน เพราะขณะนี้คิดว่าเยอะมากอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจังเพราะใกล้ตัวเรามาก

ด้าน น.ส.ปันณา อาชีพขับวินจักรยานยนต์รับจ้าง กล่าวว่า ขณะนี้กลัวมากเพราะทุกเช้าตอนนี้เห็นเหมือนหมอกแต่เราเชื่อว่าไม่ใช่หมอกน่าจะเป็นฝุ่น PM2.5 มากกว่า เพราะเราดูข่าวสารพบว่ามีทั่วทุกจังหวัด แต่เมื่อเช้าไปส่งผู้โดยสารพบบนท้องถนนมีเยอะมาก ตนมีหลานเล็กยังไม่กล้าเอาออกจากบ้านเลย ตอนนี้ได้แต่ป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย ลูกค้าบางคนก็ใส่ บางคนก็ไม่ใส่ อยากให้ใส่ดีที่สุด อยากให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างจริงจัง เพราะสูดดมเยอะจะเป็นอันตราย ไม่ว่ามะเร็งปอดหรือไอ จาม และอีกมากมาย

ขณะที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียล เฟซบุ๊ก พร้อมข้อความให้ความรู้เรื่องฝุ่น PM2.5 รวมถึงห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยหมอใหญ่กรุงเก่า แนะประชาชน “ดูแลตนเอง และบุตรหลาน เมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่ฝุ่นละออง PM2.5”

โดยนายแพทย์ชวนนท์ อิ่มอาบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า คุณภาพอากาศในปัจจุบันมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมมนุษย์ ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ สามารถแพร่กระจายสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือดและแทรกซึมกระบวนการทำงานอวัยวะต่างๆ เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง

นพ.ชวนนท์ อิ่มอาบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต่อว่า ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ หากบ้านพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ และหากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะให้รีบพบแพทย์ทันที

แนวทางการดูแลเด็กเล็กสำหรับผู้ปกครอง 1) ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ 2) ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6-8 แก้วต่อวัน 3) เด็กที่มีโรคประจำตัว ควรดูแลอย่างใกล้ชิด และสังเกตอาการ หากพบว่ามีความผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ทันที 4) ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษ 5) งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ปิ้งย่างที่ทำให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น 6) ไม่ติดเครื่องรถยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน 7) ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน 8) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งและการทำงานหนักที่ต้องออกแรงมากในบริเวณที่มีหมอกควัน

พร้อมคำแนะนำในการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 1) เลือกใช้หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 เช่น หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัยคาร์บอน หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน 2) สวมหน้ากากให้กระชับกับใบหน้า สายรัดหนึ่งสายอยู่เหนือใบหูและอีกหนึ่งสายอยู่ใต้ใบหูและกดส่วนที่เป็นโลหะให้กระชับแน่นกับสันจมูก 3) เลือกขนาดที่เหมาะสมครอบได้กระชับกับจมูกและใต้คาง ควรแนบกับใบหน้า 4) เปลี่ยนทุกครั้งเมื่อพบว่าหน้ากากชำรุดหรือภายในหน้ากากสกปรก 5) หากเป็นไปได้ควรเปลี่ยนหน้ากากอันใหม่ทุกวัน หรือสามารถติดตามข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการหรือสื่อต่างๆ รวมทั้งการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ที่เว็บไซต์ของ กรมควบคุมมลพิษ http://air4Thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน AIR4Thai ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422










กำลังโหลดความคิดเห็น