xs
xsm
sm
md
lg

พิษณุโลกดึงนักวิชาการไทย-พม่าร่วมไขความลับตองอู-“พระสุพรรณกัลยา” แกะรอยนิมิต “หลวงปู่โง่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - นักวิชาการ-นักโบราณคดีทั้งไทย-พม่า ร่วมวงเสวนาประวัติศาสตร์ “พระสุพรรณกัลยา” ไขความลับตองอู-นิมิตหลวงปู่โง่น ระบุเป็น 1 ใน 3 พระชายา "พระเจ้าบุเรงนอง" มีพระบรมรูปปรากฏ ณ พระราชวังตอนใต้หงสา ขณะที่ “พระองค์ดำ” เคยตีเมืองหงสาถึง 3 ครั้ง เล็งปลุกเสก “พระพุทธชินราช” จำลองเชื่อมสัมพันธ์



ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้ง-ประธานบริหารวงษ์พาณิชย์กรุ๊ป/ศิษย์หลวงปู่โง่น โสรโย พร้อมนักประวัติศาสตร์ชาวเมียนมา ร่วมพิธีบวงสรวงเทวดาบูชาฤกษ์ เทิดพระเกียรติยศสมเด็จพระสุพรรณกัลยา และเปิดแพคลุมป้ายพิพิธภัณฑ์พระสุพรรณกัลยา ณ พระตำหนักสมเด็จพระสุพรรณกัลยา วัดจันทร์ตะวันออก อ.เมืองพิษณุโลก ช่วงเย็นวานนี้ (12 ม.ค. 68)

จากนั้นได้เปิดการเสวนาประวัติศาสตร์ พระสุพรรณกัลยา-ความลับในตองอู ซึ่งผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี-นักประวัติศาสตร์ชาวเมียนมา 4 คนร่วมงานเสวนา โดยได้รับการสนับสนุน ม.นเรศวร, ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม, สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก, บริษัทวงษ์พาณิชย์, สถาบันสี่แยกอินโดจีน, นางสาวนิภาวรรณ กาญจนพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก, นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ท่ามกลางผู้สนใจทั้งไทยและชาวพม่าในจังหวัดพิษณุโลกร่วมรับฟัง

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้ง-ประธานบริหารวงษ์พาณิชย์กรุ๊ป/ศิษย์หลวงปู่โง่น โสรโย กล่าวว่า สืบเนื่องจากนิมิตฝันของหลวงปู่โง่น โสรโย ที่มองเห็นอดีตกาลของพระสุพรรณกัลยา ทำให้เห็นภาพเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ในตองอู พระโค พระราชวังจันทน์ และปัจจุบันนี้ยังมีโบราณหลักฐานบางอย่างลักษณะสิ่งของเครื่องใช้ของพระสุพรรณกัลยาอยู่ที่วัดวรเชษฐ์ (นอก) กทม. หลายคนไปกราบไหว้ขอพร ซึ่งคนไทยเชื่ออย่างฝังใจว่ามีการอัญเชิญดวงวิญญาณของพระสุพรรณกัลยามาอยู่พิษณุโลกอีกด้วย

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามมีความมุ่งมั่นศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง จึงได้ทำหนังสือเชิญผ่านไปยังสถานทูตพม่า จากนั้นก็ส่งต่อไปยังกระทรวงวัฒนธรรมพม่า กระทั่งสามารถเชิญวิทยากรมาร่วมวงเสวนาครั้งนี้


ทั้งนี้ Mr. Nyo Myint Tun Deputy Director General Ministry of Religious Affair and Culture Department of Archaeology and National Museum Naypyitaw รองอธิบดีกระทรวงการศาสนาและวัฒนธรรม ภาคโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมียนมา กล่าวว่า ตนได้ศึกษาพงศาวดารพม่าถึงเรื่องพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งที่พม่ามีพระบรมรูปพระสุพรรณกัลยา และตนได้เคยไปบนบาน ต้องบูชาถวายผลไม้คือ "แอปเปิล" เพื่อขอพระสุพรรณกัลยา ให้ช่วย ก็ประสบความสำเร็จมาแล้ว

Ms. Ohmmar Myo Senior Researcher Seameo Regional Centre for Archaeology and fne นักวิจัยอาวุโสโบราณคดีชาวเมียนมา เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมพม่าสนใจเรื่องพระสุพรรณกัลยา เพราะถือเป็น 1 ใน 3 มเหสีของพระเจ้าบุเรงนอง จึงได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าให้สร้างพระบรมรูปพระสุพรรณกัลยา ที่พระราชวังแห่งหนึ่ง ตอนใต้ของหงสาวดี ด้วยความเสียสละของพระสุพรรณกัลยา ซึ่งมีผลต่อความสัมพันธ์ไทย-พม่า นอกจากนี้ตนยังได้ศึกษาและพบพระพุทธรูปลักษณะของพิษณุโลก แต่ไม่ใช่แบบอยุธยาอีกด้วย

Mr. Than Win ผู้เล่าเรื่องราวเจ้าฟ้าหญิงไทย สมเด็จพระสุพรรณกัลยาในแดนพม่า ความลับในตองอู กล่าวว่า พระสุพรรณกัลยาสวยขนาดไหนนั้น ตนได้เห็นสิ่งของพระสุพรรณกัลยาใช้ก็คือ กระจก เสมือนหินใส สามารถมองเห็นหน้าได้ และตนอยากให้มีพิพิธภัณฑ์พระสุพรรณกัลยายิ่งใหญ่กว่านี้ พร้อมชูภาพประวัติศาสตร์ไทยและพม่าที่มีการต่อสู้บนหลังช้าง

Dr. Mya Thaung Writer of History and poem Researcher of Toungoo history นักเขียนประวัติศาสตร์และบทกวี นักวิจัยประวัติศาสตร์ตองอู Member of Parliament 2016-2021 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี พ.ศ. 2559-2564 Member of Bago region Archeology and cultural restoration commentate กล่าวถึงเมืองพิษณุโลกนั้น ประวัติศาสตร์พม่า ระบุมีมหาธรรมราชาครองราชย์เมืองพิษณุโลกอยู่

ซึ่งพระธรรมราชาถวายพระสุพรรณกัลยาให้ "พระเจ้าบุเรงนอง" ตามประวัติศาสตร์สงครามไทย-พม่าครั้งที่ 1 พระนเรศวรเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ช่วงอายุ 9 ขวบ พอสมเด็จพระนเรศวร 15 พรรษา พระมหาธรรมราชาก็ให้มาอยู่เมืองพิษณุโลก มีหลักฐานประวัติศาสตร์พระนเรศวรเดินทัพมาต่อสู้ตีเมืองหงสาวดี 3 ครั้ง ช่วงนั้นพระสุพรรณกัลยาไม่อยู่หงสาย้ายไปอยู่ที่เมืองตองอู


ดร.สมไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่อยากให้เสวนากันแล้วก็หายไป เรื่องนี้ควรให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามและนักวิชาการพม่า วิเคราะห์และเขียนเรื่องราวพระสุพรรณกัลยาให้เป็นเนื้อหาเรื่องราวประวัติศาสตร์เจ้าฟ้าหญิงไทย สมเด็จพระสุพรรณกัลยาในแดนพม่าคลี่คลายความลับในตองอู ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าด้วย

และสักวันหนึ่ง ประชาชนชาวไทยจะรวบรวมเงินทองเพื่อเททองหล่อปลุกเสกพระพุทธชินราชจำลองเพื่อไปประดิษฐานที่เมืองหงสา เพราะชาวพม่าอยากเห็นและกราบไหว้
กำลังโหลดความคิดเห็น