เชียงราย - มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ส่งมอบเครื่องเตือนน้ำท่วมติดในเมียนมาแล้ว ชี้เตือนก่อนมวลน้ำสายทะลักเข้าแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก 8-9 ชั่วโมง เผยไทยมีแล้วเป็นพัน แต่เจอกฎหมายป่าไม้-อุทยานฯ จนต้องติดบนพื้นราบ-ที่ต่ำ ทั้งที่ต้องติดบนที่สูง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้นำทำพิธีส่งมอบสถานีโทรมาตรอัตโนมัติหรือเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมให้กับทางการเมียนมาเมื่อเร็วๆ นี้ ที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ตามมติคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) ไทย-เมียนมา ที่เห็นชอบให้มีการขุดลอกและปรับบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย-จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
พ.ท.ตั้น หล่าย วิน (Lt.col. Thant Laing Win) รักษาการแทนผู้บังคับการ บก.ยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก เป็นผู้แทนรับมอบสถานีโทรมาตรอัตโนมัติจำนวน 3 สถานี พร้อมด้วยโมเดลจำลองเพื่อให้ทางการเมียนมานำไปดำเนินการ
โอกาสนี้ ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นำเสนอระบบการทำงานของสถานีดังกล่าว ระบบแสดงผลจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 ซึ่งประชาชนทั้งฝั่งไทยและเมียนมาที่ผ่านไปมาสามารถดูข้อมูลได้โดยตรง และเครื่องสามารถเฝ้าระวังก่อนที่มวลน้ำจากต้นแม่น้ำสายจะไหลสู่ อ.แม่สาย และ จ.ท่าขี้เหล็ก ได้ล่วงหน้าประมาณ 8-9 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สถานีโทรมาตรอัตโนมัติกำหนดให้มี 4 สถานี อยู่ใน จ.ท่าขี้เหล็กจำนวน 3 สถานี ประกอบด้วยบ้านโจตาดา บ้านดอยต่อคำ และสะพานอูทูนอ่องเขตบ้านสบสาย และอยู่ในเขต อ.แม่สาย จำนวน 1 สถานีตรงที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย
พ.ท.ตั้น หล่าย วิน ได้กล่าวขอบคุณฝ่ายไทยแทนประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือน ก.ย.-ต.ค. 2567 ที่ผ่านมาเช่นเดียวกับฝ่ายไทยจนทำให้มีบ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก ซึ่งสถานีโทรมาตรอัตโนมัตินี้จะช่วยทำให้ประชาชนชาวเมียนมาได้ทราบล่วงหน้าเพื่อป้องกันเหตุได้ทันต่อไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีแผนงานจะติดตั้งเครื่องโทรมาตรฯ หรือเครื่องแจ้งเตือนน้ำท่วมให้ครบจำนวน 510 สถานีบนที่สูงทั่วประเทศ ปัจจุบันติดแล้วจำนวน 300 กว่าแห่ง ยังเหลืออีกประมาณ 200 แห่ง ที่กำลังจะทำให้สำเร็จทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งบางแห่งติดตั้งยากมาก เช่น เขาหลวง จ.สุโขทัย ภูกระดึง ที่กองทัพบกต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ติดตั้ง
เครื่องโทรมาตรฯ ต้องติดตั้งบนพื้นที่สูง แต่ประเทศไทยกลับติดตั้งบนพื้นที่ราบนับร้อยนับพันแห่ง เพราะถ้าจะติดต้องให้กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ อนุญาตก่อน รวมทั้งยังมีหลายกรมและหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิฯ จึงเป็นตัวกลางในการประสานทั้ง 1 หน่วยงาน เมื่อติดตั้งแล้วข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำซึ่งมีเซิร์ฟเวอร์ใหญ่ที่ใหญ่ที่สุด จากนั้นจะส่งกลับมายังชุมชนในเครือข่ายเพื่อแจ้งเตือน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ขยายการติดตั้งเข้าไปใน สปป.ลาว และครั้งนี้ขยายไปยังประเทศเมียนมาด้วย ซึ่งที่จริงเคยจะติดตั้งเมื่อ 28 ตุลาคม 67 ที่ผ่านมาก่อนมีน้ำท่วมใหญ่ แต่จุดติดตั้งถูกน้ำพัดเสียหายหมดแล้วจึงต้องติดตั้งกันใหม่
มูลนิธิฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเตือนภัยได้ทั้งจังหวัดแต่จะเตือนได้เฉพาะชุมชนเครือข่าย ดังนั้นจึงจะทำงานร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฯลฯ จะมีการปรับปรุงอุปกรณ์ เช่น รถพยาบาลยกสูงเพื่อช่วยเหลือในเขตน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร โดยกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม เบื้องต้นอาจได้ 2-3 คันก่อน แต่จะมีรถประกอบอาหารเพิ่มเติม จัดอบรมทีมกู้ภัยในลักษณะแปลกๆ เป็นต้น