เชียงราย - ป้องกันน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปลายปี 67..เจ้าของอาคารสิ่งปลูกสร้างริมน้ำสายสมัครใจรื้อเองแล้ว 5 ราย ที่เหลือบ้างรอดูเงินเยียวยา-บ้างติดแบงก์ ขณะที่ สทนช.จ่อเดินหน้าขุดลอกมีนาฯ นี้ หวังเสร็จก่อนฝนถล่ม
หลังคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก (JCR) ไทย-เมียนมา มีมติเห็นชอบให้มีการขุดลอกและปรับบริเวณริมฝั่งแม่น้ำสายซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนั้น
ล่าสุดนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย มอบหมายให้นายสิทธิศักดิ์ อินใจคำ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอแม่สาย เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการสำรวจพื้นที่รุกล้ำแนวเขตแดนถาวรไทย-เมียนมา โดยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนที่มีสิ่งก่อสร้างอยู่ริมแนวเขตแดนเข้าร่วม
จังหวัดได้ชี้แจงถึงที่มาของการสำรวจเขตแดน จุดที่มีการรุกล้ำ และอธิบายให้รับทราบอย่างเป็นทางการถึงการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ จึงขอความร่วมมือในการจัดการต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้มีการดำเนินการในอนาคตได้สะดวกและถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเคยเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่บริเวณชายแดนเมื่อเดือน ก.ย.-ต.ค. 2567 จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก
ที่ประชุมยังได้แจ้งผลการตรวจสอบพื้นที่รุกล้ำชายแดนแม่น้ำสาย โดยกลุ่มงานความมั่นคงพบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำแม่น้ำสายจำนวน 26 ราย ซึ่งเจ้าของอาคารสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้จำนวน 25 ราย มีผู้ที่ลงนามในเอกสารรับทราบผลการประชุมจำนวน 18 ราย
และมีผู้ที่แสดงความยินยอม-ประสงค์จะรื้อถอนอาคารเองจำนวน 5 ราย ได้แก่ ระเบียงร้านมังกี้ หมู่ 1 ต.เวียงพางคำ, ระเบียงดาดฟ้าบ้านเลขที่ 486 หมู่ 10 ต.แม่สาย, อาคารเก็บของบ้านเลขที่ 224 หมู่ 11 ต.เกาะช้าง, กระท่อมพื้นที่หมู่ 1 ต.เกาะช้าง และห้องน้ำวัดเกาะทราย หมู่ 7 ต.แม่สาย ซึ่งหากจะมีการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทางเจ้าของจะแจ้ง อ.แม่สาย เพื่อที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ที่เหลือบางส่วนยังรอความชัดเจนเรื่องการเยียวยา และบางรายเป็นอาคารที่เช่าจากราชพัสดุไปจดจำนองกับสถาบันการเงิน บางส่วนยังไม่แสดงความเห็น ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสายลมจอยบางส่วนขอค้าขายก่อนเพราะที่ผ่านมาขาดรายได้จากน้ำท่วม และหากหน่วยงานภาครัฐจะดำเนินการอย่างไรก็ยินยอมตามนั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2567 ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานว่าแผนที่นำเสนอรัฐบาลและ JCR คือการขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก โดยจะเป็นการขุดลอกแม่น้ำสายระยะทาง 14.45 กิโลเมตร แบ่งเป็นโซน 1 ระยะทาง 12.39 กิโลเมตร และโซน 2 ระยะทาง 2.06 กิโลเมตร ส่วนแนวการสร้างพนังมีระยะทาง 3.960 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำรวกมีการขุดลอก 30.89 กิโลเมตร ปัจจุบันมีการสำรวจและออกแบบแล้วเสร็จแล้ว
เมื่อ JCR เห็นชอบด้วยก็จะขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก สทนช.และกองทัพบก เพื่อทำการขุดลอกในเดือน มี.ค.และให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2568 ด้วยงบประมาณประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ 843 หลัง เป็นผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น โฉนด น.ส.3 น.ส.3 ก.จำนวน 178 หลัง และอยู่ในที่ราชพัสดุจำนวน 162 หลัง รวมทั้งอยู่ในที่สาธารณะและอื่นๆ กว่า 508 หลัง