xs
xsm
sm
md
lg

พลิกฟื้นตลาดน้ำอัมพวา ทุกฝ่ายพร้อมไหม? กับการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - ตลาดน้ำอัมพวา ซบซาลงตั้งแต่โควิดจนถึงปัจจุบันยังไม่ฟื้น อาจเป็นเพราะประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว ทำให้เทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป การพลิกฟื้นตลาดน้ำอัมพวาอีกครั้งอาจต้องสร้าง product ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

อัมพวา แม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ในอดีตถือว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ.สมุทรสงคราม มีตลาดน้ำและชุมชนน้อยใหญ่ริมแม่น้ำลำคลองที่เป็นศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม ย้อนกลับไปสัก 10 ปี อัมพวาเคยคึกคัก และโด่งดังเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นชาวต่างที่เดินทางมาสมุทรสงคราม เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ “ตลาดน้ำอัมพวา” ทุกวันศุกร์เสาร์อาทิตย์รถราจึงติดขัดไปทั้งเมือง จนเมื่อโควิดระบาดตลาดน้ำอัมพวาก็เงียบเหงาเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ อัมพวายังไม่กลับมาเหมือนเดิมคล้ายกับเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปแล้ว


ร.ท.พัชโรดม อุนสุวรรณ อดีตนายกเทศมนตรีอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ผู้ที่ริเริ่มทำตลาดน้ำอัมพวา จนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก กล่าวถึงตลาดน้ำอัมพวาที่เริ่มเปลี่ยนไปจากเทรนด์การท่องเที่ยวว่า วันที่เริ่มทำตลาดน้ำอัมพวาเมื่อปี 2547 ตอนนั้นอัมพวามีเรือ มีร้านค้ามาขายของไม่กี่ราย และยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เรียกว่าแทบจะไม่มีใครรู้จักอัมพวา รู้จักแต่ดอนหอยหลอด ตลาดร่มหุบ เรามองนักท่องเที่ยวกลุ่มคนไทยก่อน จึงเป็นที่มาของคำว่าทำไมอัมพวาถึงเปิดวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะเรามองกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ

อีกทั้งสมัยก่อนไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในตลาดแม่กลองมากขนาดนี้ และตลาดน้ำอัมพวาใช้เวลาไม่กี่ปีก็เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ผ่านมา 20 ปี คนรู้จักอัมพวาไม่ใช่แค่คนไทย คนต่างชาติเริ่มรู้จักแล้ว แต่กิจกรรมที่อัมพวามีตอนนี้ไม่สอดคล้องกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในตัวจังหวัด เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวเข้ามาทุกวันไม่มีวันหยุด โดยเฉพาะชาวต่างชาติ หากเราสามารถบอกเขาได้ว่าตลาดน้ำอัมพวาเปิดทุกวัน นักท่องเที่ยวที่จะไปดำเนินสะดวกอาจจะปักหมุดหมายมาที่อัมพวาอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นการเพิ่มจุดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวขยายตัวได้ แทนที่จะมีจุดเดียวซึ่งถ้ามาแล้วอาจจะไม่มาอีก แต่ถ้ามีหลายจุดนักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวซ้ำได้ เรื่องนี้จะต้องคุยกันกับผู้ประกอบการว่าถ้าจะเปิดทุกวันพร้อมไหม ต้องค่อยๆ เริ่ม ใครพร้อมก็มาขายก่อนแล้วค่อยสร้างการรับรู้ใหม่ให้นักท่องเที่ยวทราบว่าตลาดน้ำอัมพวาเดี๋ยวนี้มีทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะศุกร์เสาร์อาทิตย์อย่างเดิมแล้ว


ร.ท.พัชโรดม บอกด้วยว่า ตนเชื่อว่าตลาดน้ำอัมพวาจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเนื่องจากเสน่ห์ของอัมพวามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพัฒนาให้ถูกทางเพราะต้นทุนของจังหวัดสมุทรสงครามไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมซึ่งนักท่องเที่ยวอาจจะมองเห็นได้ยาก จึงต้องอาศัยการจัดการ เช่น ตลาดน้ำคือต้นทุนทางวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตของชุมชนบ้านเรา ถ้ามีกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมจะมีกลุ่มที่สนใจอยากมาฟัง มาเรียนรู้

อีกอย่างคือ จังหวัดสมุทรสงคราม มีต้นทุนด้านอาหารอยู่แล้วถึงกับมีคำกล่าวว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” เป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางวัตถุดิบที่ดี และยังมีเรื่องราวของกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งถือเป็นรากของวัฒนธรรมและรากของอาหารไทย นอกจากนี้จังหวัดสมุทรสงครามยังเป็นสถานที่ประสูติของพระมเหสีถึง 2 พระองค์ คือพระมเหสีรัชกาลที่ 1 และพระมเหสีรัชกาลที่ 2 ซึ่งอดีตผู้หญิงถือว่าเป็นครัว


ดังนั้น อาหารหลายอย่างจึงถูกถ่ายทอดจากจังหวัดสมุทรสงคราม แต่ทั้งนี้การขับเคลื่อนต้องเกิดทั้งจากผู้ประกอบการและภาคประชาชน ต้องมีเวทีนั่งคุยกันว่าพร้อมไหม หากผู้ประกอบการร่วมด้วยช่วยกัน ภาครัฐค่อยเอางบประมาณมาสนับสนุนและสร้างการรับรู้ แต่หากรัฐนำหน้าแต่ผู้ประกอบการไม่พร้อมก็ไม่สามารถไปต่อได้

ส่วนเรื่องอาหารที่มีบางกระแสบอกว่าตลาดน้ำอัมพวาของแพง และมีการเก็บค่าจอดรถแพงด้วยนั้น ตนมองว่าถูกหรือแพงเป็นการตัดสินของผู้บริโภค แต่เรื่องคุณภาพสินค้าคุณภาพการบริการต้องขายอย่างสุจริต ซื่อสัตย์ พ่อค้าแม่ค้าต้องติดป้ายราคาให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนและตัดสินใจซื้อ ไม่ใช่ไม่ติดป้ายราคาแล้วไปเก็บแพง ของไม่สมกับราคาอย่างนี้เรียกว่ารับไม่ได้ อีกทั้งต้องหาลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าของตัวเอง


การจะพลิกฟื้นอัมพวาให้กลับมา ขณะนี้ต้องการผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพเมื่อ 20 ปีที่แล้วเราแทบไม่เห็นเด็กรุ่นใหม่ แต่ตอนนี้เริ่มเห็นเด็กรุ่นใหม่กลับมาบ้าน มาเป็นผู้ประกอบการ และตอนนี้ผู้ประกอบการทุกคนสามารถทำการตลาดได้เองทางโซเชียลมีเดียแล้วมีฐานลูกค้าตาม ซึ่งมันเป็นคนละบริบทกับตลาดน้ำอัมพวาในยุคแรกๆ ที่เริ่มจากชาวบ้าน แล้วรัฐเข้าไปสนับสนุน ดังนั้นจะต้องมีการสร้างผู้ประกอบการมืออาชีพให้แข็งแกร่งเนื่องจากไม่มีใครจะช่วยพวกเขาได้ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นที่จะพลิกฟื้นตลาดน้ำอัมพวา นั้น มองว่าอาจจะเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่สามารถทำได้ก่อน เช่น สร้างจุดเริ่มต้นฟื้นฟูในพื้นที่ปิดที่เป็นของหน่วยงานก่อนเพื่อผลักดันให้เกิดย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก่อนก็ได้ และมีหน่วยงานราชการเป็นตัวกลางประสาน ที่สำคัญผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกัน เริ่มพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเริ่มผลิตสินค้าใหม่ๆ ด้วย เพราะเทรนด์ท่องเที่ยวปัจจุบันนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้ว จากกลุ่มใหญ่มารถบัส เป็นกลุ่มเล็กมารถตู้


การกำหนดจุดท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนตามเทรนด์ เพราะประเทศเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว วันธรรมดาก็มาเที่ยวได้ จากกรุงเทพฯ ขับรถแค่ชั่วโมงเดียวก็มาถึงอัมพวา เพราะฉะนั้นจะต้องทำ product เมืองให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่จะมาท่องเที่ยวทุกวันด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสให้อัมพวากลับมาได้ สำคัญที่ว่า ทุกฝ่ายพร้อมไหม? กับการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น