xs
xsm
sm
md
lg

ประมงสมุทรสงครามยกโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" คืบหน้าช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม โชว์ความคืบหน้าโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" นวัตกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ด้วยการสนับสนุน “ปลานักล่า” ให้เกษตรกรใช้ควบคุมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมยังสร้างความยั่งยืนโดยเกษตรกรจะส่งคืนปลานักล่า 10% ให้ประมงสมุทรสงคราม

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” เป็นโมเดลเป็นโครงการที่ประสานความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างรัฐ เอกชน และเกษตรกร เพื่อช่วยเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มผลผลิตโดยควบคุมปลาหมอคางดำที่เป็นศัตรูในบ่อเลี้ยงที่ริเริ่มของประมงสมุทรสงคราม โดยบูรณาการแนวทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน โดยสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการนำไปปล่อยช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงเกษตรกร และสร้างความยั่งยืนให้ระบบ เกษตรกรจะคืนปลานักล่าบางส่วน เพื่อให้ประมงจังหวัด เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป

"สิบหยิบหนึ่ง" สะท้อนแนวคิดการคืนปลานักล่า 10% หรือ 1 ใน 10 ส่วนหมุนเวียนกลับคืนสู่ระบบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่ง นอกจากนี้ ปลากะพงขาวเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจชุมชน ปัจจุบัน ประมงสมุทรสงครามได้สนับสนุนปลากะพงขาวแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปแล้ว 3 รุ่นแล้ว

โดยเกษตรกรกลุ่มแรกภายใต้กิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” ได้รับการสนับสนุนปลานักล่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมาครบกำหนดเวลานำปลานักล่ามาคืนแก่ประมงจังหวัดแล้ว และสำหรับเกษตรกรรุ่นที่สอง ประมงจังหวัดสมุทรสาครได้แจกจ่ายปลากะพงขาว 10,000 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟเพื่อแบ่งให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางแก้ว และตำบลยี่สาร รวม 55 ราย ปล่อยลงบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2567 สำหรับรุ่นที่ 3 ประมงสมุทรสงครามนำปลากะพงขาวรวม 5,000 ตัว แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 25 ราย นำไปปล่อยลงในบ่อเลี้ยงรายละ 200 ตัว ซึ่งผลจากดำเนินการได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกร

นายสมศักดิ์ แสงสุริยา เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เข้าร่วมกิจกรรมรุ่นแรก กล่าวว่า กิจกรรมสิบหยิบหนึ่งเป็นแนวทางที่ดีมาก ขอบคุณประมงสมุทรสงครามที่คิดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรจัดการปัญหาปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งได้ลูกพันธุ์ปลากะพงขาว 1,000 ตัว ปล่อยลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ตอนนี้กำลังทยอยจับปลากะพงขาวมาคืนประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระให้หน่วยงานรัฐอีกทางหนึ่ง

นายพิศาล วงศ์วัฒนา เกษตรกรที่ร่วมกิจกรรม สิบหยิบหนึ่งรุ่นแรก กล่าวว่า ที่บ่อเลี้ยงกุ้ง ปู และปลากะพง ที่ผ่านมาผลผลิตลดลงได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ขอขอบคุณหน่วยงานราชการ ประมงจังหวัด อบต. และซีพีเอฟ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนพันธุ์ปลากะพงขาว ซึ่งช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำในบ่อได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาในเกณฑ์ที่พึงพอใจ

นายบัณฑิต กล่าวเสริมว่า “สิบหยิบหนึ่ง” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ประมงจังหวัดสมุทรสงครามบูรณาการเพื่อช่วยเกษตรกรควบคุมศัตรูของสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง นอกจากนี้ ประมงสมุทรสงครามยังได้จัดตั้ง 'กองทุนกากชา' ขึ้นเพื่อช่วยให้เกษตรกรยืมกากชาฟรีเพื่อนำไปใช้กำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมา ประมงสมุทรสงครามเดินหน้าเต็มกำลังในการจัดการปริมาณปลาหมอคางดำ ผ่านการจัดกิจกรรมลงแขก ลงคลอง ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำ

โดยร่วมมือกับเรือนจำกลางสมุทรสงครามทำน้ำปลาตรา “หับเผย แม่กลอง” สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรนำปลาหมอคางดำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปลาร้า ปลาส้ม สร้างรายได้ให้เกษตรกรจากการดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเต็มกำลังของประมงสมุทรสงคราม ส่งผลให้ในแหล่งน้ำธรรมชาติพบปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ หรือปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับปี 2568 นี้ ประมงสมุทรสงครามยังคงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมจัดการปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการส่งเสริมปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์และแปรรูปเป็นอาหาร ควบคู่กับการควบคุมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร เพื่อการจัดการปลาหมอคางดำอย่างครบวงจรและยั่งยืน








กำลังโหลดความคิดเห็น