ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 พอใจการกระบวนการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้าง แนะบางเรื่องต้องเร่งแก้ไข เผยสามารถเป็นต้นแบบให้โครงการขนาดใหญ่ของประเทศได้ ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นปัญหาจึงได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นประธานการประชุมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้นำชุมชนเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง
นายสนธิ เผยว่า การประชุมคณะกรรมการในครั้งนี้ เป็นการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เช่น ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมโครงการ ผู้ประกอบการ และท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ราบรื่น และเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก แต่มีประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ 2 ประเด็นหลักๆ การกัดเซาะชายฝั่งแถวย่านบางละมุง โรงโป๊ะ หมู่ 2 และ 3 ซึ่งเรื่องนี้ ท่าเรือแหลมฉบังควรจ้างผู้เชี่ยวชาญศึกษาหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และจะมีมาตรการในการป้องกันอย่างไร หากศึกษาแล้วมีผลกระทบจริง ท่าเรือแหลมฉบัง จะต้องเสนองบประมาณต่อรัฐบาล เพื่อหามาตรการป้องกันการกัดเซาะและปัญหาอื่นๆต่อไป
นอกจากนั้น ปัญหาเรื่องม่านกันตะกอน มีอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างในทะเล โดยทางคณะกรรมการมีความหวั่นวิตกหากไม่เร่งดำเนินการอาจจะเกิดปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้รับเหมารับปากจะทำให้เสร็จเร็วๆ นี้ ก่อนจะดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทางผู้รับเหมารับปากจะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตามที่คณะกรรมการได้เสนอแนะ
นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น เช่น การตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้รับเหมาได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและข้อเสนอแนะต่างๆ แล้วนำไปปฏิบัติ ทำให้โครงการดำเนินการไปได้ด้วยดี เช่น โครงการถมทะเลขั้นที่ 1 จะเป็นไปตามแผนงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 29 มิ.ย.2569 และพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทที่รับช่วงต่อสามารถดำเนินโครงการได้ต่อไป และถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่ระบุไว้อย่างแน่นอน
สำหรับในสัญญาที่ 2 คือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ที่พักอาศัย ถนน หรือทางรถไฟจะดำเนินการต่อไป และพร้อมจะเริ่มงานในต้นปีหน้า ซึ่งรายละเอียดในการดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวจะต้องพูดคุยกันอีกครั้ง ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ด้านฝุ่นละอองจะต้องมีการพรมน้ำพื้นถนนตลอดเวลา รถบรรทุกจะต้องไม่ผ่านในเขตพื้นที่ชุมชน นอกจากนั้น แพล้นปูนซีเมนต์ก่อสร้างจะต้องตั้งอยู่ด้านนอกโดยจะไม่อยู่ในพื้นที่เขตท่าเรือแหลมฉบัง
“คิดว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะเป็นโมเดล หรือแบบอย่างให้โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะโครงการนี้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเรื่องต่างๆ ร่วมกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงปัจจุบันนี้ ปัญหาจึงได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่บานปลายไปจนถึงถึงสิ้นสุดโครงการแล้วมามีปัญหาร้องเรียนกัน” นายสนธิ กล่าว
นายสนธิ กล่าวอีกว่า ในเร็วๆ นี้ ท่าเรือ F จะส่งมอบให้บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ตามสัญญาสัมปทานบริหารโครงการ ในปี 68 โดย ต้องดำเนินการในรูปแบบเดียวกันนี้ คือ จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อประชุมหารือร่วมกันทุกๆ 2 เดือน และจะเป็นโมเดลให้พื้นที่ต่างๆ นำรูปแบบดังกล่าวไปใช้ได้