xs
xsm
sm
md
lg

กาฬสินธุ์รุกฟื้นแหล่งไม้กลายเป็นหินภูปอ ทำเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หน่วยงานรัฐในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ร่วมสำรวจเส้นทางและฟื้นฟูการท่องเทียวแหล่งไม้กลายเป็นหิน ภูปอ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์-สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ ลุยฟื้นแหล่งไม้กลายเป็นหินภูปอ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เรียนรู้โลกดึกดำบรรพ์เชื่อมโยงไดโนเสาร์ภูน้อย มหัศจรรย์ดินแดนดึกดำบรรพ์ 150 ล้านปี พร้อมเสริมศักยภาพบุคลากรในชุมชนเรียนรู้เรื่องท่องเที่ยว


เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นายยศพงษ์ ทรงศิลป์ นายอำเภอคำม่วง เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ มุ่งยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ มีนางสาวสิริน โคตรธนู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมดำเนินการตามกิจกรรม

พร้อมด้วยนายบุญแสน บุญชัยแสน นายองค์การบริหารส่วนตำบลนาบอน นำผู้นำชุมชน ตัวแทนชุมชนจากภาคส่วนต่างๆเข้าร่วมอบรม พร้อมลงพื้นที่จัดทำเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวดึกดำบรรพ์ 150 ล้านปี ซึ่งเป็นจุดแข็งของอำเภอคำม่วง รวมถึงผ้าไหมแพรวาสินค้า GI

นายยศพงษ์ ทรงศิลป์ นายอำเภอคำม่วง กล่าวว่าแหล่งไม้กลายเป็นหินภูปอ มีการค้นพบหลากหลายขนาด จำนวนนมาก มีนักธรณีลงมาสำรวจและให้ข้อมูลทางธรณี พบว่าไม้กลายเป็นหินภูปอ ที่พบนั้นมีอายุราว 150 ล้านปี เชื่อมโยงกับไดโนเสาร์ภูน้อย อยู่ในยุคเดียวกัน เป็นต้นไม้โบราณที่พบเป็นโคนต้น ลำต้น และกิ่ง เป็นป่ายุคจูแรสซิกตอนปลายถึงยุคครีเครเชียสตอนต้น กลุ่มพืชปรง สน และแป๊ะก๊วย นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยืนยันได้ว่าพื้นที่ภูปอในอดีตเป็นแหล่งดึกดำบรรพ์ ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก

การจัดอบรมบุคลากรครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นให้ความรู้พัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งผู้เข้าอบรมมีทั้งผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนภูปอ กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงภาครัฐด้วย แนวทางการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ต้องอาศัยความเข้มแข็งของชุมชนเป็นหลัก หลอมรวมสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ในอนาคตอันใกล้จะมีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวภูปอ เพื่อชมแหล่งไม้หลายเป็นหิน ชุมชนก็จะมีรายได้จากการพัฒนาแบบ 100% อย่างไรก็ตามทางอำเภอคำม่วงได้วางแผนระยะยาว โดยจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งไม้กลายเป็นหินให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เบื้องต้นจะประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมสำรวจ เพื่อจัดทำเส้นทางที่ค้นพบแหล่งไม้กลายเป็นหิน รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนที่เชื่อมโยงภูปอ ซึ่งต้นปี 2568 นี้ น่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมแหล่งไม้กลายเป็นหินได้




ด้านนางสาวสิริน โคตรธนู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่าโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกาฬสินธุ์ กิจกรรมอบรมยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย 3 ช่วงวัย รวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว

นอกเหนือจากจัดอบรมให้ความรู้ด้านธรณีวิทยา โดยวิทยากรจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร และการอบรมแนวทางพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว โดยนางนฤมล สิงห์เงา ปลัดเทศบาลตำบลโนนบุรี จากแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ผลักดันให้เกิดกิจกรรมและชุมชนท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว พร้อมลงพื้นที่แหล่งไม้กลายเป็นหินและศึกษาเส้นทาง “อุทยานธรณีโลกกาฬสินธุ์” พื้นที่อำเภอคำม่วง อีกด้วย




ส่วนพื้นที่ภูน้อย แหล่งขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์ อำเภอสหัสขันธ์, วัดพุทธนิมิตภูค่าว และวัดสักกะวันภูกุ้มข้าว พิพิธภัณฑ์สิรินธร และอำเภอกุฉินารายณ์ พิพิธภัณฑ์นาไคร้ และวัดภูดานไห จัดให้มีการแบ่งกลุ่มสร้างเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเพื่อรองรับการเปิดตัว “อุทยานธรณีโลกกาฬสินธุ์” ในอนาคตด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น